ถ้าระยะหลัง ๆ มานี้จะเพื่อนหรือคนรู้จักของคุณจะนัดพบปะและเดินช้อปปิ้งที่ห้างเฟอร์นิเจอร์ร้านใหญ่อย่าง IKEA ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกมากนัก เพราะความหลากหลายของงานดีไซน์และกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้านที่ IKEA ขนมาให้เลือกซื้อเลือกชมนั้นมีมากกว่าหมื่นรายการ เยอะจนอาจทำให้คุณสนุกเพลินกว่าการเดินช้อปปิ้งตามห้างอย่างที่เคยมาก่อนด้วยค่ะ
เสน่ห์ที่เก๋มากอีกอย่างหนึ่งและสร้างความแตกต่างให้ การช้อปปิ้งที่ IKEA ไม่เหมือนกับการเดินห้างร้านเฟอร์นิเจอร์แบรนด์อื่น ๆ ก็คือ IKEA มีร้านอาหารไว้บริการให้ลูกค้าได้พักผ่อนรับประทานอาหารในสไตล์นานาชาติ เรียกได้ว่ามีอาการให้เลือกกินกันได้หลายรส หลายสไตล์ รวมหมดทั้งคาวหวาน ในราคาเบา ๆ ตามสไตล์แบรนด์ IKEA ค่ะ นอกจากเมนูอาหารทีมีให้เลือกเยอะแยะแล้ว รสชาติของอาหารยังได้มีการปรับให้เข้ากับรสนิยมการกินของลูกค้าในแต่ละประเทศอีกด้วยนะคะ นับว่าเป็นอีกแบรนด์ที่เจาะบริการได้โดนใจพฤติกรรมผู้บริโภคจริง ๆ ค่ะ
ผู้ก่อตั้งของแบรนด์นิสัยดี เรียบง่ายในดีไซน์ มากประโยชน์ใช้สอย ในราคาเบา ๆ ก็คือ Ingvar Ramprad ซึ่งชื่อ IKEA นั้นก็มีที่มาจากอักษรตัวแรกของทั้งชื่อตัวและชื่อนามสกุลของผู้บุกเปิกแบรนด์นี้แหละค่ะ ส่วนอักษรสองตัวสุดท้ายนั้น มาจากตัวอักษรแรกของสถานที่ที่ Ingvar เติบโตขึ้น ซึ่งก็คือชื่อฟาร์ม Elmtaryd และชื่อหมู่บ้าน Agunnard เมื่อนำมารวมกันหมดจึงได้คำว่า IKEA นั่นเองค่ะ แรกเริ่มในวัยเด็กนั้น Ingvar ก็เป็นเด็กที่สนใจเรื่องการทำการค้ามาตลอด ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบเขาก็หัดสังเกตคนรอบข้าง จนรู้ว่าทุกครอบครัวต้องใช้ไม้ขีดไฟ จากนั้นเขาก็ไปซื้อไม้ขีดไฟในราคาขายส่งแล้วมาแยกขายปลีกโดยการเดินเร่ขายไม้ขีดไฟแถวหมู่บ้าน และได้กำไรจากการขายครั้งนั้นมาต่อยอดซื้อของอย่างอื่น ๆ มาขายเพิ่มอีก จนเมื่อเขาอายุได้ 17 ปี ก็สามารถเปิดร้านขายของชำที่มีสินค้าหลายแบบทั้งเครื่องเขียน, นาฬิกา, กระเป๋า และ การ์ดอวยพร จนกระทั่งเขาได้ลองเอาเฟอร์นิเจอร์เข้ามาขายดูบ้าง และก็รู้ทันทีว่า สินค้าเฟอร์นิเจอร์นี่แหละที่น่าสนใจ
เขาจึงตัดสินใจหันมาเทใจขายสินค้าเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียวโดยเฉพาะค่ะ ด้วยกลยุทธ์ทางราคาที่ต้องการเน้นราคาต่ำเหมือนสมัยที่ขายของชำ ทำให้เขาถูกซัพพลายเออร์รวมตัวกันแบนไม่ส่งสินค้าให้ขายในช่วงหนึ่ง แต่ผลของการถูกสกัดกั้นทางการค้าครั้งนั้น กลับทำให้ Ingvar หันมาเรียนรู้เรื่องการออกแบบเฟอร์นิเจอร์อย่างจริงจังและเริ่มผลิตเฟอร์นิเจอร์เอง ภายใต้กติกาเดิมคือสินค้าต้องมีราคาไม่แพง
ในเวลาต่อมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ให้ลูกค้า แล้วไม่สามารถปิดประตูรถได้เพราะติดขาโต๊ะ จุดนี้กลายมาเป็นไอเดียสำคัญที่พลิกแบรนด์ IKEA ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตนอีกอย่างก็คือ Ready to Assemble Furniture หรือเฟอร์นิเจอร์ถอดประกอบเองได้ ซึ่งสินค้าจะถูกบรรจุมาในกล่องสี่เหลี่ยมแบน ๆ ทำให้ง่ายในการขนส่งและเคลื่อนย้ายด้วยค่ะ
ปัจจุบัน IKEA สามารถขยายสาขาได้มากกว่า 349 สาขาใน 43 ประเทศทั่วโลก และสามารถกวาดรายได้ประมาณ 27,628 ล้านยูโร โดยสัดส่วนที่ได้จากตลาดยุโรปนั้นมากถึง 79%, ตลาดอเมริกา 15% และ เอเซียอีก 6% ด้วยกลยุทธ์ด้านต่าง ๆ อย่างเช่น Low Cost Leadership เรื่องของการตั้งราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งโดยเฉลี่ย 10 – 20% รูปแบบของงานดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ IKEA นั้น สามารถตอบโจทย์ของลูกค้าผู้ที่มีพื้นที่ห้องหรือบ้านขนาดเล็ก แต่ก็สามารถที่จะจัดวางเฟอร์นิเจอร์สวย ๆ ได้ครบครันทุกการใช้สอยในราคาที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของได้ เมื่อมีตัวเลือกใหม่ที่มาพร้อมดีไซน์สวย ๆ ราคาน่าซื้อ ทำให้แบรนด์ IKEA สามารถเจาะใจลูกค้าและเป็นที่นิยมอย่างมากในเวลาไม่นาน กลยุทธ์ถัดมาที่ IKEA ทำออกมาได้สวยงามก็คือ กลยุทธ์จากตัวสินค้าของ IKEA เอง ที่นอกจากจะมีให้เลือกหลากหลายสไตล์มากกว่า 12,000 รายการแล้ว อย่างที่บอกคุณสมบัติเด่นของการชูเรื่องเฟอร์นิเจอร์ประกอบเองได้ และการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างลูกค้ากับตัวสินค้าที่เกิดขึ้นระหว่างการประกอบชิ้นเฟอร์นิเจอร์นั้น คือความลงตัวของการใช้ชีวิตของคนในยุคสมัยนี้เข้าอย่างจัง นับเป็นการตีโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ถูกต้องอีกข้อของ IKEA ค่ะ
IKEA ไม่เพียงแค่งัดกลยุทธ์ สินค้าดี ราคาประหยัด ตรงกับไลฟ์สไตล์มาใช้เท่านั้น ล่าสุดแบรนด์ IKEA ยังคงปรับเปลี่ยนการขายด้วยการจัดพิมพ์แคตาล็อกสินค้าในรูปเล่มสีสรรสดใสพร้อมแจงราคาสินค้า เพื่อกระตุ้นความสนใจของลูกค้ามากขึ้นไปอีก และยังรู้จักปรับกลยุทธ์เข้าไปทำการขายสินค้าผ่านทางเว็บไซด์ออนไลน์ตามกระแสนิยมของกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย ว่ากันว่าในช่วงเวลาไม่ถึงปี หลังจากที่ออกเว็บไซด์ออนไลน์มาก็มีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซด์ IKEA มากกว่า 470 ล้านคนไปแล้วค่ะ และแม้ว่า IKEA จะประสบ ความสำเร็จ อย่างสูงแล้วจากการขยายสาขาไปในทวีปต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า แต่ IKEA ก็ยังคงไม่หยุดนิ่งต่อการเจาะตลาดกลุ่มใหม่ ๆ ใน วงการเฟอร์นิเจอร์ ประเทศอื่นเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสาขาใหม่ที่กาตาร์และลิทัวเนีย จุดหมายก็คือการสร้างแบรนด์ให้ลูกค้าจดจำได้ และเป็นการช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดที่มากขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายถึงผลประกอบการที่โตขึ้นและผลกำไรของบริษัทที่เพิ่มมากขึ้นไปด้วยค่ะ