ปัจจุบันนี้เทรนด์ในการ ลงทุนในกองทุนรวม มีมากขึ้นในกลุ่มมนุษย์เงินเดือน…แล้วถ้าเราอยากเป็นหนึ่งในนั้นเราเริ่มต้นยังไงกันดี … เรื่องนี้มีคำตอบ คือ อันดับแรกต้องเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนมาอ่านเพื่อทำความรู้จักกับกองทุนรวมกันก่อน ศึกษาหาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเพื่อเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนรวม เลือกกองทุนที่จะลงทุนเพื่อให้ตรงใจเรา…ซึ่งเรามาเริ่มดูกันเป็นเรื่อง เรื่อง กันดีกว่า
อันดับแรก เรามาทำความรู้จักกองทุนรวมกันก่อน ว่ากองทุนรวม นั้นคือ เครื่องในการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ หรือมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ที่อยากลงทุนในหุ้น ในตราสารหนี้ หรือในสินทรัพย์อื่นๆ แต่ด้วยเรามีเงินทุนจำกัด ไม่มีประสบการณ์และความชำนาญเพียงพอในการลงทุน และไม่มีเวลาที่มากพอสำหรับการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญกองทุนรวมนั้นจะมีมืออาชีพที่ทำหน้าที่จัดการลงทุนให้เราอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้เรามั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าสามารถลงทุนแล้วได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการได้
ผลประโยชน์ที่เราจะได้จากการลงทุนในกองทุนรวมมีมากมายเลย เช่น มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย สามารถเลือกลงทุนได้ตามที่ต้องการหรือความเหมาะสมของเรา สามารถขายออกไปเมื่อต้องการเงินสด หรือที่เรียกว่ามีสภาพคล่อง แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูที่เงื่อนไขการได้เงินของแต่ละกองด้วย เพราะการขายกองทุนไม่เหมือนการเบิกเงินสดออกจากธนาคาร ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ใช้เงินลงทุนเล็กน้อยและเสียค่าใช้จ่ายไม่มาก
แต่ก็ใช่ว่าการ ลงทุนในกองทุนรวม ก็สวยหรูไปเสียหมด หากเราจะลงทุนในกองทุนรวมก็ยังต้องคำนึงในเรื่องต่อไปนี้ด้วยเช่นกัน คือ เราอย่าลงทุนตามกระแสหรือตามคนที่เค้ารวยจาการลงทุนในกองทุนรวม อย่าดูผลตอบแทนเพียงระยะสั้น สั้น ควรดูย้อนหลังสัก 3-5 ปี เพื่อดูแนวโน้มของกองทุนที่เราสนใจ เราควรจะต้องวางแผนการลงทุนไว้ล่วงหน้าเสมอ และสุดท้ายเมื่อลงทุนไปแล้วก็ควรที่จะมีการติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างเป็นสม่ำเสมอ
เมื่อเรารู้จักกองทุนรวมแล้วอีกส่วนที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ก็คือ การสำรวจตัวเองว่าอยากลงทุนในกองทุนรวมเพราะอะไร โดยสิ่งแรกที่ต้องรู้ คือ ตัวเราลงทุนในกองทุนรวมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ โดยสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ตัวเรายอมรับได้และสามารถบรรลุเป้าหมายที่เราต้องการได้ ซึ่งระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้นั้นสามารถสำรวจตัวเองได้จากการทำแบบสอบถามของบริษัทจัดการกองทุน เมื่อเราไปเปิดบัญชีซื้อขายกองทุนกับ บลจ.ต่างๆ จะถูกบังคับให้ทำแบบสอบถามทุกคนเพื่อให้รู้ว่าเรามีความรู้เพียงพอต่อการลงทุนในระดับไหนได้บ้าง ซึ่งเป็นสำคัญมากเช่นกันเพราะกองทุนรวมทีออกมานั้นจะมีความหลากหลายของทรัพย์สินที่กองทุนจะไปลงทุน เพราะบางกองทุนก็ลงทุนในเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล แต่บางกองทุนก็ไปลงทุนในต่างประเทศ กองทุนทองคำ หรือลงทุนในหุ้น เป็นต้น
พอเรารู้จักตัวเองเพียงพอแล้ว สิ่งที่ต้องเรียนรู้ต่อมา ก็คือ การเลือกบริษัทจัดการกองทุน เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับเราว่าบริษัทที่เราเลือกบริหารเงินลงทุนของเรานั้นมีความมั่นคง มีความน่าเชื่อถือ และสามารถให้บริการเราได้อย่างเต็มที่และหลากหลายช่องทาง โดยเราจะดูได้จากรายชื่อผู้บริหารของบริษัท การจัดโครงสร้างองค์กร งบการเงินและเทคโนโลยีในการให้บริการ ศึกษาการบริหารงานได้จากผลการดำเนินงานในอดีต รายชื่อและประวัติของผู้จัดการกองทุนที่ทำงานให้กับบริษัท ตลอดจนบริการที่บริษัทจะมีให้กับเรา เช่น รูปแบบกองทุนที่มีหลากหลายและตรงใจเรา มีตัวแทนให้ติดต่อใกล้บ้านหรือทำงาน สามารถสอบถามข้อมูลกองทุนได้ตลอดเวลา มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกองทุนให้กับเราอย่างสม่ำเสมอ หรือจะเป็นบริการอัตโนมัติต่างๆ เช่น บริการทางโทรศัพท์ บริการทาง Internet หรือการจ่ายค่าซื้อกองทุนผ่านการตัดบัญชีโดยอัตโนมัติ เป็นต้น
การเลือกกองทุนที่จะลงทุนก็จะมีปัจจัยหลากหลายให้เราต้องพิจารณา ก็จะประกอบไปด้วย ประเภทของกองทุน อายุของกองทุน เช่น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือไม่กำหนดอายุโครงการ ขนาดของกองทุนก็ดูได้จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV) ว่าจะมีอยู่กี่ล้านบาทเป็นกองเล็กหรือใหญ่ ค่าธรรมเนียมต่างๆและค่าใช้จ่ายของกองทุน ซึ่งจะมีส่วนที่เก็บจากกองทุนและส่วนที่เก็บจากผู้ซื้อ-ขายกองทุน ผลการดำเนินงานของกองทุนที่เปรียบเทียบกับตัววัดมาตรฐานตามแต่ละประเภทของกองทุน นโยบายการจ่ายเงินปันผล ตลอดจนความเสี่ยงและสภาพคล่องของกองทุน โดยทั้งหมดที่กล่าวมานี้เราสามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม เพื่อใช้สำหรับตัดสินใจซื้อกองทุนได้เป็นอย่างดี
และ สุดท้าย คือ การศึกษาข้อมูลอื่นๆ ให้เพียงพอสำหรับการลงทุนที่บริษัทจัดการจะต้องจัดทำให้ จัดหาให้เราได้มีข้อมูลศึกษาก่อนการลงทุนได้อย่างเพียงพอ ได้แก่ หนังสือชี้ชวน รายงานประจำปีที่จะประกอบไปด้วยงบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชี ตารางแสดงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เรียกเก็บจากกองทุน ฯลฯ ทั้งนี้กองทุนรวมมีฐานะเสมือนนิติบุคคล ซึ่งจะต้องดำเนินการทางบัญชีเช่นเดียวกับบริษัท และข้อมูลที่น่าสนใจต้องศึกษาอีกหนึ่งตัวก็คือ ลักษณะหรือสไตล์ของผู้จัดการกองทุน เพราะจะมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ Passive Style เป็นการบริหารกองทุนให้มีผลตอบแทนใกล้เคียงกับตัวชี้วัดของแต่ละกองทุน ส่วน Active Style เป็นการบริหารกองทุนให้มีผลตอบแทนชนะหรือสูงกว่าตัวชี้วัดของแต่ละกองทุน
บทสรุปสุดท้ายจริงๆ การเลือก ลงทุนในกองทุนรวม นั้น ควรจะเลือกให้เหมาะกับความชอบของตัวเอง เลือกบริษัทจัดการกองทุนที่น่าเชื่อถือ มีบริการที่เพียงพอ อ่านหนังสือชี้ชวนและศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ให้เพียงพอ และเลือกลงทุนตามฐานะทางการเงินที่เรามีอย่างเพียงพอและไม่เดือดร้อนต่อการบริหารการเงินส่วนตัวของเรา