วัน ๆ หนึ่งเราอาจจะใช้เวลาทำงานหาเงินกันอยู่นอกบ้านวันละหลาย ๆ ชั่วโมง ไหนจะเรื่องของเวลาที่หมดไปกับการเดินทางอีกเป็นชั่วโมง ๆ การใช้ช่วงเวลาดี ๆ นอนเล่นกับคนในครอบครัวที่บ้านของตนเองจึงเป็นเรื่องที่เราต่างก็ฝันกันไว้ค่ะ
แต่ต้นทุนสำหรับความฝันเกี่ยวกับบ้านของเราแต่ละคนนั้น ค่อนข้างสูง บ้านทาวน์โฮมทั่ว ๆ ไปก็ต้องมีสนนราคาที่ 3 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ, ถ้าใครชอบบ้านที่มีบริเวณมากขึ้นหน่อย และมีความเป็นส่วนตัวมากอีกนิด บ้านเดี่ยวราคาเริ่มต้น 4 – 5 ล้านบาทนั่นแหล่ะค่ะ ที่อาจจะพาให้เราเหงื่อตก หรือ ถ้าใครไม่นิยมบ้านจัดสรรที่แบบบ้านเหมือน ๆ กันแต่ อยากมีบ้าน สร้างบ้านในแบบของตนเองจริง ๆ งานนี้ก็ไม่ธรรมดาค่ะ เพราะกว่าคุณ ๆ จะได้บ้านในแบบที่ฝันและต้องการกันไว้ งบก็อาจจะบานปลาย สะเทือนใจกันซะก่อน
เทคนิคคุมงบข้อที่ 1 พิจารณาผู้รับเหมา
ก็คือ คุณ ๆ ต้องพิจารณาผู้รับเหมาให้ดี ๆ ค่ะ อย่างที่รู้กัน คุณอาจจะไม่รู้เรื่องของการสร้างบ้านทั้งหมด ผู้รับเหมาจึงควรเป็นผู้ช่วยคุณคิด และ ทำให้งานสร้างบ้านลุล่วงในระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้, คุณภาพของงานที่ออกมาก็ควรดูแลให้เรียบร้อยเป็นไปตามแบบที่ต้องการ และที่สำคัญงานเมื่อแล้วเสร็จนั้น ก็ต้องอยู่ภายในงบประมาณที่กำหนดให้ได้มากที่สุด อาจจะมีเกินกว่างบไปบ้างแต่ก็ไม่ควรเกินมากไปกว่า 15 – 20% ค่ะ การจะสร้างบ้านสักหลัง มีเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องดูแลกันมากมายค่ะ คุณเพียงคนเดียวจึงไม่สามารถควบคุม หรือ ตัดสินใจได้ทุก ๆ เรื่อง การมีที่ปรึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์จึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ดังนั้น ถ้าคุณจะพิจารณาเลือกผู้รับเหมาสักราย ก็ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเลือกค่ะ ลองให้เขาเสนอราคามาดูก่อน คุณสามารถขอราคาจากผู้รับเหมารายอื่น ๆ มาเทียบอย่างน้อย ๆ ก็สัก 3 รายค่ะ เมื่อได้ดูราคาที่เขาเสนอกันมาแล้ว คุณอาจจะได้เปรียบในการเจรจาต่อรองด้วยนะคะ เพราะบางรายอาจยอมอ่อนราคาลงให้ แล้วทีนี้ คุณก็จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ
เทคนิคคุมงบข้อที่ 2 ปรับขนาดบ้าน
ขยายมุมโล่งโปร่งสบาย ใคร ๆ ก็ย่อมต้องอยากได้บ้านหลังใหญ่ ๆ และขนาดของบ้านที่ใหญ่ขึ้นก็คือ จำนวนเงินที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งถ้าคุณอยากจะแบ่งห้องกั้นฉากให้เป็นสัดส่วนมากขึ้นเท่าไร นั่นก็คือจำนวนเงินค่าวัสดุกั้น และ การตกแต่งที่เพิ่มมากขึ้นค่ะ ซึ่งถ้าความต้องการของคุณคืออยากให้บ้านดูใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอยมาก ๆ คุณน่าจะลองดูแบบบ้านที่มีพื้นที่โล่ง ๆ ให้ความรู้สึกโปร่งสบายตา เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณเริ่มกั้นห้อง ใช่ค่ะ ว่าจะดูเป็นสัดส่วนมากขึ้น แต่กำแพงก็จะบดบังความกว้างและลดพื้นที่ใช้สอยอีกด้วยค่ะ ในทางตรงกันข้าม คุณสามารถทำให้ห้องเป็นสัดส่วนได้เช่นกันด้วยการสร้างแค่กำแพงกั้นในส่วนที่จำเป็นจริง ๆ ที่เหลือก็เล่นกับพื้นที่ของบ้านด้วยกระจกบานใหญ่ ๆ หรือ จะให้แนวทางเดินเป็นการเชื่อมต่อของแต่ละห้อง และเป็นตัวนำสายตาก็ได้ค่ะ วิธีนี้จะช่วยให้บ้านของคุณมีสไตล์ทันสมัยมากขึ้น, กว้างขวางและโล่งกว่าเดิม และยังอาจจะช่วยประหยัดเงินได้มากขึ้นอีกด้วยนะคะ
เทคนิคคุมงบข้อที่ 3 ยึดกฎที่ว่า Less is more, simple is the best
บางครั้งสิ่งที่เราเห็นเขาออกแบบต่าง ๆ ให้ดูมีลักษณะการใช้งานหลากหลายก็ไม่ได้แปลว่า ดีงาม เสมอไปหรอกนะคะ คุณอาจจะชื่นชอบบ้านที่มีห้องใต้บันได ดูเก๋ ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ ถ้าต้องเข้าไปอยู่ในนั้น เราต่างก็รู้สึกอึดอัด จะเอาไว้เก็บของก็จะต้องคอยมารื้อของออกไปทิ้งทีหลัง ห้องใต้บันไดที่คุณคาดว่าจะได้ใช้ประโยชน์ เอาเข้าจริง ๆ ก็คือห้องเก็บของที่ซุกความอับและฝุ่นต่าง ๆ เอาไว้ให้คุณต้องมาคอยทำความสะอาดนั่นแหละค่ะ หรือ ในการตกแต่งบ้าน คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องปูวอลล์เปเปอร์ หรือ ทาสีไปทุก ๆ ห้อง หรือ ทั้งหลังหรอกค่ะ บางห้องก็ปล่อยให้โชว์ปูนเปลือย ๆ ดิบ ๆ บ้างก็ได้อารมณ์สวย ๆ ไปอีกแบบ แถมยังได้ประหยัดงบลงไปอีกด้วยนะคะ
เทคนิคคุมงบข้อที่ 4 Do it yourself DIY
ในเมื่อนี่คือบ้านของเรา การมีส่วนร่วมเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องที่น่าจดจำและยังเป็นช่วงเวลาที่ดีของสมาชิกในครอบครัวอีกด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรั้วบ้าน, ทาสีประตู, ทาสีห้อง, จัดแต่งสวน หรือ ช่วยกันประดิษฐ์เฟอร์นิเจอร์สักชิ้น นอกจากจะทำให้บ้านมีชีวิตชีวา, มี quality time ร่วมกันแล้วยังได้ประหยัดงบลงไปอีกด้วยนะคะ เริ่ดมาก ๆ ค่ะ แล้วก็อย่าลืมเก็บภาพของช่วงเวลานั้นเอาไว้มานั่งดูก็เป็นความทรงจำที่ดี ๆ ร่วมกันด้วยนะคะ
เทคนิคคุมงบข้อที่ 5 เช็คราคาวัสดุอุปกรณ์เป็นประจำ
เพราะบางครั้งถ้าคุณไปเลือกซื้อวัสดุเองคุณก็อาจจะได้ราคาที่ถูกกว่าราคาของผู้รับเหมา เพราะช่วงที่เขาซื้อ กับช่วงที่คุณซื้อราคาอาจจะมีการปรับลงก็ได้ค่ะ ยิ่งถ้าได้ไปซื้อในจังหวะที่มีงานแสดงสินค้าหล่ะก็ ราคาเร้าใจกว่าแน่ ๆ ค่ะ ไม่ควรพลาด จัดไปเลยค่ะ