คุณรู้ไหมว่า คนเราจะรวยไม่รวยนั้น เค้าไม่ได้ดูกันที่รายได้หรอก แต่เค้าดูกันที่ “รายจ่าย” ต่างหาก! คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการหา เงิน หรอก (แต่จะมีปัญญาหาได้มากหรือได้น้อยนี่อีกเรื่องนึงนะ) เพราะการศึกษาขั้นต่ำของคนส่วนใหญ่ก็ปริญญาตรีแล้ว จะทำงานตามสายงานที่เรียนมา หรือฉีกตัวออกไปทำด้านอื่นก็ว่ากันไป แต่โดยพื้นฐานของมนุษย์เราส่วนใหญ่ย่อมต้องดิ้นรนในการหารายได้อยู่แล้ว
คนส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องการควบคุมรายจ่ายครับ ไม่ว่าจะรายได้มากหรือรายได้น้อย เรามักจะมีความสามารถในการขยับรายจ่ายให้ขึ้นไปสูสีกับรายได้เสมอ ดีไม่ดี แซงหน้ารายได้ซะอีก แต่คุณรู้มั้ยว่า ช่องทางที่ทำให้เงินคุณไหลออกจากกระเป๋าของคุณนั้น ไม่ได้มีแค่การที่คุณใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเท่านั้น มันมีถึง 4 ช่องทาง ซึ่งถ้าคุณไม่มีความรู้ หรือรู้ไม่เท่าทันทั้ง 4 ช่องทางนี้ อาจทำให้เงินคุณหายไปหมดแบบไม่รู้ตัว
4 ช่องทางที่ทำให้เงินคุณไหลออกกระเป๋าเงินของคุณ มีดังนี้
- การใช้เงินเกินตัว
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า คนส่วนใหญ่นั้นมักมีความสามารถในการเขยิบรายจ่ายให้เข้าใกล้รายได้ของตัวเองได้เสมอ ที่สำคัญหลายๆ คนยังทำรายจ่ายแซงหน้ารายได้อีกด้วย นิสัยการใช้จ่ายเงินเกินตัวเกิดจากที่เราไม่รู้จักคำว่า “พอเพียง” ใช้จ่ายเพื่อสนองความต้องการของตัวเองอยู่ตลอด อีกทั้งปัจจุบันยังมีทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต และอื่นๆ อีกสารพัด ยิ่งช่วยให้เราใช้จ่ายเกินตัวหนักขึ้นไปอีกคุณรู้มั้ยครับว่า พอคุณมีรายได้มากขึ้น คุณมักมีข้ออ้างให้ตัวเองในการซื้อของที่ไม่จำเป็นได้มากขึ้นไปอีก แต่ก่อนคุณอาจกินข้าวแกงได้ พอได้เงินมากขึ้นมาหน่อย ก็อยากกินร้านอาหารหรูๆ แล้วก็ให้เหตุผลว่าร้านข้าวแกงมันไม่สะอาด แต่ก่อนคุณอาจนั่งรถประจำทาง พอเงินมากขึ้น คุณก็ตัดสินใจซื้อรถยนต์ แล้วก็ให้เหตุผลว่ามันจำเป็น จะได้เดินทางได้สะดวกขึ้น โดยที่ไม่ได้เอะใจเลยว่าสิ่งที่ซื้อมานั้น เป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ หรือเป็นการซื้อมาเพื่อต้องการสนองความอยากของตัวเองกันแน่ ที่หนักไปกว่านั้นคือการซื้อของมาเพื่ออวดคนอื่น เพื่อเป็นหน้าเป็นตา หรือสมฐานะ ยิ่งคุณมีเงินมากขึ้น ภาษีสังคมคุณก็จะยิ่งมากขึ้น ถ้าคุณสะกดคำว่า “พอ” ไม่เป็น คุณก็จะติดนิสัยใช้จ่ายเกินตัวอยู่ร่ำไป
นิสัยการใช้จ่ายเกินตัว เป็นสิ่งที่ต้องแก้ที่ต้นตอของมัน คือการบริหารควบคุมความอยากภายในจิตใจของตัวเอง ต้องปรับที่ความคิด และทัศนคติครับ
- เงินเฟ้อ
เงินที่คุณมีอยู่ แค่คุณปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ โดยที่ไม่ทำอะไร นั่นเท่ากับว่าเงินคุณได้ค่อยๆ หายไปแล้วนะครับ เพราะสิ่งที่เราเรียกว่า “เงินเฟ้อ” นั่นเอง สำหรับคนที่ไม่เข้าใจเรื่องเงินเฟ้อ ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มันเป็นตัวที่ทำให้มูลค่าเงินของคุณลดลง เงิน 100 บาทในปัจจุบันอาจซื้อข้าวได้ 2 จาน แต่ในอนาคตคุณอาจจะซื้อข้าวได้แค่จานเดียว นี่คือสิ่งที่เงินเฟ้อเล่นงานเรา
อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณ 3-5% ต่อปี นั่นหมายความว่าต่อให้คุณฝากเงินไว้ที่ธนาคารเพื่อหวังดอกเบี้ยเงินฝากก็ยังไม่สามารถที่จะเอาชนะเงินเฟ้อได้เลย ดังนั้นในอนาคตเป็นไปได้ว่าเราต้องมีอีกอาชีพนึงที่นอกเหนือจากงานหลักที่เราทำอยู่ นั่นก็คือนักลงทุน เราจะหลีกหนีการลงทุนไม่ได้ครับ เพราะการลงทุนจะเป็นเครื่องมือที่จะสามารถทำให้เราเอาชนะเงินเฟ้อได้
- รายจ่ายที่เป็นค่ารักษาพยาบาล
นี่คือรายจ่ายที่คนหลายคนมองข้าม เพราะคิดว่าตอนนี้เราก็ไม่ได้เจ็บปวดอะไรนี่นา ยังแข็งแรงดีอยู่ แต่คุณรู้หรือไม่ครับว่า รายได้ประมาณ 1 ใน 7 ที่คุณหามาได้ มันจะกลายเป็นค่ารักษาพยาบาลของคุณ ถ้าคุณไม่มีการวางแผนเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉินไว้เลย เกิดเจ็บป่วยหนัก หรือเกิดอุบัติเหตุกะทันหัน คุณไม่มีทางหาเงินได้ทันแน่นอน
การที่คุณแข็งแรง ระวังตัว ไม่เจ็บไม่ป่วยนั้นเป็นการดี แต่ก็ควรมีรายจ่ายในส่วนนี้กันเอาไว้ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญเวลาที่เกิดขึ้นมาทีนึง ค่าใช้จ่ายก็มักจะแพงเอาเรื่องอยู่เหมือนกันนะครับ
- ความโลภ
เราปฏิเสธไม่ได้ครับว่ามนุษย์เราทุกคนมีความโลภ มีความอยากได้ อยากเป็น อยากมีอะไรเต็มไปหมด บางครั้งเวลาเราถูกความโลภครอบงำ อาจทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ขาดสติ ไร้ซึ่งการไตร่ตรองและเหตุผล
ไม่ผิดครับ หากคุณจะคิดจะลงทุนทำอะไรสักอย่างนึง แล้วอยากจะได้ผลตอบแทนมากๆ แต่โดยมากแล้ว เมื่อความโลภนำมา เรามักจะตัดสินใจโดยขาดสติ เรื่องเหตุผลไม่ต้องพูดถึง เพราะเหตุผลไม่สามารถอยู่ร่วมกับความโลภได้อยู่แล้ว คนที่มีความโลภ ต่อให้เล่นการพนัน ก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นนักลงทุน ต่อให้เล่นจนหมดตัว เงินเก็บที่มีหายหมดเกลี้ยง ก็ยังไม่ได้สติ บางทีหมดตัวไม่พอ ต้องถึงขนาดเป็นหนี้เป็นสิน จนไม่มีอะไรจะไปจ่ายเค้าแล้ว การเป็นหนี้แบบนี้น่าเจ็บใจที่สุด ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วว่ามนุษย์เรามีความโลภ เราจึงควรต้องฝึกบริหารความโลภกันนะครับ เพิ่มความมีเหตุผลให้มาก เพราะเหตุผลจะเป็นตัวที่ทำให้ความโลภมีอำนาจลดลงได้
จนถึงตรงนี้หวังว่าทุกคนคงจะรู้เท่าทันแล้วว่า 4 ช่องทางที่ทำให้เงินไหลออกจากกระเป๋าของคุณมีอะไรบ้าง ทีนี้ก็อย่าลืมสำรวจแต่ละช่องทางที่เป็นรูรั่วของคุณให้ดีนะครับ ยิ่งรู้เท่าทันมาก โอกาสที่เงินคุณจะรั่วไหลก็น้อยลงนะครับ!