ยุคนี้เป็นยุคทองของสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบเทคโนโลยี และค่านิยมทางวัตถุ ส่งผลให้เด็กๆรับสิ่งต่างๆที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งในบางครั้งอาจส่งผลให้พวกเขาต้องกลายเป็นบุคคลที่มีสภาวะล้มเหลวทางการเงินได้ในอนาคต
พ่อแม่หรือผู้ปกครอง คือแบบอย่างที่ดีของพวกเขา มีวิธีการสอนมากมายที่คุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันได้โดยไม่ยากนัก ขอเพียงคุณมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ อนาคตทางการเงินของพวกเขาก็จะมั่นคง สามารถดูแลตัวเอง และดูแลคุณได้ โดยที่คุณไม่ต้องกังวลว่าเขาจะ ใช้เงิน ตกอยู่ในสภาวะหนี้สิน เช่นหนุ่มสาววัยทำงานในยุคปัจจุบัน
1. สอนให้เขารู้จักประหยัด
ก่อนอื่น คุณต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเขาค่ะ เด็กๆมักจะเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆจากคนใกล้ตัว ดังนั้น ถ้าคุณมีพฤติกรรมฟุ้งเฟ้อให้เขาเห็น เขาก็จะเติบโตขึ้นโดยไม่รู้คุณค่าของเงินเหมือนที่คุณกำลังทำอยู่ในทุกวันนี้
เริ่มจากเรื่องอาหาร ปัจจุบัน ผู้ปกครองไม่ค่อยนิยมทำกับข้าวทานเองในบ้าน ทั้งๆที่เป็นวิธีที่ช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี แถมยังมีผลพลอยได้เป็นคุณค่าทางโภชนาการ และสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้สนิทแนบแน่นยิ่งขึ้นด้วยการทานข้าวร่วมกัน เท่าที่เห็น ส่วนใหญ่ผู้ปกครองจะชอบพาเด็กๆไปทานอาหารเย็นตามร้านในห้างดังเกือบทุกมื้อ ซึ่งถือว่านั่นเป็นการสอนให้เขารู้จักความฟุ้งเฟ้อโดยทางอ้อม เขาจะมองว่า อาหารเหล่านี้สามารถทานได้ทุกวัน ต่อให้ไม่มีเงินสด ก็สามารถใช้บัตรเครดิตรูดชำระไปก่อนได้เหมือนที่ผู้ปกครองทำให้เห็น
คุณควรสอนเขาทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการประหยัดในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเย็บซ่อมแซมเสื้อผ้า เช่นเย็บกระดุม,เย็บซ่อมตะเข็บที่ขาด ไม่ใช่พอเสื้อผ้ามีจุดชำรุดเพียงเล็กน้อย ก็เอาไปจ้างช่างซ่อมทั้งๆที่คุณสามารถทำได้เองและสอนเขาควบคู่กันไปได้ด้วย ผู้ปกครองบางท่านแย่กว่านั้น แค่มีรอยขาดหรือตำหนิเพียงนิดเดียว ก็ขนไปบริจาค หรือทิ้งไปเลยก็มีค่ะ คงเดาไม่ยากเลยนะคะ ว่าเด็กๆที่เห็นพฤติกรรมเหล่านี้ เขาจะเติบโตมาเป็นคนประเภทไหน
2. สอนให้เขาใช้ชีวิตแบบธรรมดา
การใช้ชีวิตแบบธรรมดา จะช่วยให้เขาเป็นเด็กที่รู้จักค่าของเงิน รู้จักประหยัด และสามารถเอาตัวรอดได้ในสังคมยุคใหม่ โดยที่คุณไม่ต้องห่วงหรือคอยช่วยเหลือเขาในด้านการเงิน (ทั้งๆที่เขาโตมากแล้ว)
เริ่มจากการเข้านอนแต่หัวค่ำ แล้วตื่นตอนเช้าตรู่ วิธีนี้ช่วยหลีกเลี่ยงให้เขาไม่ต้องเห็นสิ่งยั่วยุต่างๆ เช่นโฆษณาสินค้าที่เกินความจำเป็น พฤติกรรมฟุ้งเฟ้อของตัวละครในละครหลังข่าว สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการใช้ชีวิต และพฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ของพวกเขาได้มากพอๆกับการกระทำของคุณ
ฝึกให้เขาทำงานบ้านเป็น ช่วยเหลือตัวเองได้ วิธีนี้จะช่วยบ่มเพาะให้เขากลายเป็นคนขยัน ไม่เกี่ยงงานหนัก ทำให้เขามีความมั่นคงในหน้าที่การงาน และส่งผลต่อรายได้ระยะยาวที่จะเพิ่มขึ้นตามอายุงาน
เมื่อพาเขาไปที่ห้างสรรพสินค้า คุณต้องแฝงความรู้เรื่องการ ใช้เงิน อย่างคุ้มค่าให้เขาโดยทางอ้อม เช่น เปรียบเทียบสินค้าชนิดเดียวกัน แต่ต่างยี่ห้อและราคา ว่าควรเลือกชิ้นไหน และเลือกเพราะอะไร เช่น น้ำยาล้างจาน A ที่มีราคาแพงกว่า ควรซื้อมากกว่าน้ำยาล้างจาน B เพราะคุณภาพดีกว่ามาก เพราะถึงจะมีปริมาณที่เท่ากัน แต่ A หยดเพียงนิดเดียว ก็ล้างจานได้หลายใบกว่าถ้าเทียบกับ B เป็นต้น
3. สอนวิธีการเก็บออม และเพิ่มมูลค่าเงิน
สอนการออมในรูปแบบง่ายๆ เช่นการหยอดออมสิน โดยกำหนดให้เขาเหลือเงินกลับมาตามจำนวนที่เหมาะสม เช่น เขาได้รับเงินไปโรงเรียนวันละ 120 บาท คุณคำนวณแล้ว เขาจะเหลือเงินได้มากถึง 60 บาทต่อวัน แต่ไม่ควรบังคับให้เขาเก็บออมตามจำนวนนั้น ให้ลดยอดลงมาสักหน่อย เช่น ขั้นต่ำวันละ 20 บาท เป็นต้น และช่วยกระตุ้นเขาเรื่อยๆว่า ขนาดเขาเก็บวันละ 20 บาท เขายังได้เงินมากขนาดนี้ นี่ถ้าเก็บวันละ 30 บาท จะได้เท่าไหร่นะ ให้เขาได้ฝึกคิดด้วยตนเอง โดยที่คุณไม่ต้องไปบังคับเขา เพราะหากเขาเก็บออมเงินด้วยการถูกบังคับจิตใจ เมื่อโตขึ้น เขาก็จะไม่เก็บเงินอีกเลย เพราะไม่มีแรงจูงใจใดๆให้ต้องเก็บอีก
สอนให้เขาเพิ่มมุลค่าเงินด้วยการนำฝากเข้าธนาคาร อธิบายให้เขาเข้าในเรื่องดอกเบี้ยเงินฝาก ว่านั่นคือผลกำไร เมื่อเขาโตขึ้นมาอีกสักนิด คุณก็สอนให้เขารู้จักการเพิ่มมูลค่าเงินในรูปแบบอื่นให้แก่เขา เลือกวิธีที่สามารถทำได้ไม่ยาก และให้เด็กๆรู้สึกสนุกกับกิจกรรมเหล่านั้น มีครอบครัวหนึ่งที่ผู้เขียนรู้จัก ช่วงปิดเทอม มีลูกหลานมาพักมากมาย ทางผู้ใหญ่ก็ชักชวนให้เด็กๆขายลูกชิ้นชุบแป้งทอดกรอบ โดยที่ผู้ปกครองเป็นคนออกเงินให้ก่อน และแบ่งหน้าที่งานให้เหมาะสมตามช่วงวัย เช่น เด็กโตมาช่วยทอด,เด็กเล็กช่วยเสียบลูกชิ้นหรือหยิบของ,และช่วยกันขายของพร้อมกันอย่างสนุกสนาน ตกเย็นก็สรุปยอดขาย หักทุนคืนผู้ใหญ่ และหารแบ่งกำไรให้เด็กๆอย่างเท่าเทียมกัน
ในวันต่อมา ผู้ปกครองก็ให้เด็กนำเงินที่ได้รับส่วนแบ่งไปเมื่อวาน มาวางไว้รวมกัน เพื่อลงทุนในการขายวันนี้ โดยมีผู้ใหญ่เป็นคนกลาง พาเดินเลือกซื้อ และสอนให้เด็กๆทำบัญชี พอขายได้เงินก็สอนเด็กๆหักทุน และนำกำไรไปหยอดกระปุกไว้ วิธีนี้ ช่วยสอนให้เด็กๆได้เรียนรู้วิธีการลงทุนแบบง่ายๆ แต่ช่วยส่งผลดีได้ในระยะยาว
อนาคตทางการเงินของเด็กๆขึ้นอยู่กับการอบรม และชี้แนะแนวทางของผู้ปกครอง ทุกๆวันของพวกเขาคือการเรียนรู้ ดังนั้นคุณจึงไม่ควรปล่อยให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ร่วมกันสร้างอนาคตทางการเงินที่ดีให้กับเด็กๆในปกครองเสียตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป