ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอาจทำให้พนักงานเงินเดือนบางรายหรือแม้แต่เจ้าของกิจการหมุนเงินไม่ทัน และประสบปัญหาในการผ่อนชำระหนี้บ้าน หรือคอนโดต่อไม่ไหว ซึ่งผู้กู้สามารถยื่นความต้องการที่จะขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านได้ โดยเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินแห่งใหม่เพื่อมาปิดบัญชีกับที่เดิม หรืออาจจะเป็นการกู้หนี้จากสถาบันการเงินแห่งเดิมเพื่อขยายเวลาชำระหนี้ออกไป พร้อมดอกเบี้ยที่ลดลง
สมมุติว่าผู้กู้ได้ผ่อนชำระค่าบ้าน หรือคอนโดมาอย่างต่อเนื่อง 2 ปี ภายใต้กรอบการผ่อนชำระทั้งสิ้น 5 ปี แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 ขณะที่ผู้กู้ยังผ่อนชำระค่าบ้าน หรือคอนโดไม่หมด กลับต้องประสบปัญหาว่างงาน ทำให้ขาดรายได้ ไม่สามารถผ่อนชำระในอัตราเดิมต่อได้ ผู้กู้ก็สามารถยื่นขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านใหม่กับสถาบันการเงินแห่งเดิม หรือรายใหม่ก็ได้ ทั้งนี้ ผู้กู้สามารถนำยอดเงินที่ยังต้องผ่อนชำระทั้งหมดมาปรับโครงส้รางหนี้ใหม่ได้ อย่างในกรณีที่ผู้กู้ผ่อนชำระมาแล้ว 2 ปี เป็นเงิน 2,000,000 บาท เหลือระยะเวลาที่ต้องผ่อนชำระอีก 3 ปี หรือเป็นยอดหนี้ค้างชำระอยู่อีกประมาณ 3,000,000 บาท ทางสถาบันการเงินจะทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้ โดยขยายระยะเวลาให้ยาวขึ้น เพื่อให้ยอดชำระต่อเดือนต่ำลง
ดังนั้น เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารเงิน ผู้กู้ควรทำความเข้าใจว่าเมื่อรีไฟแนนซ์ ไม่เพียงจะต้องยอมรับสภาพหนี้ระยะยาวที่จะตามมาเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยใหม่ และค่าใช้จ่ายต่างๆในการดำเนินการขอรีไฟแนนซ์กับทางธนาคารด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวประกอบด้วย
- ค่าเบี้ยปรับจากการไถ่ถอนก่อนกำหนดกับสถาบันการเงินเดิม : ในการขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน ผู้กู้จะต้องรับภาระค่าปรับในกรณีที่ชำระเงินกู้เต็มจำนวนก่อนครบกำหนด 3 ปี หรือคิดเป็นค่าปรับเฉลี่ยที่อัตราระหว่างร้อยละ 1 – 5 ของวงเงินกู้เดิม หรือวงเงินต้นคงเหลือ ทั้งนี้ บางสถาบันการเงินก็ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
- ค่าธรรมเนียมในการจำนองกับกรมที่ดิน : สำหรับการขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านแต่ละครั้ง ผู้กู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ซึ่งคิดเป็นอึตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ของวงเงินกู้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยชำระให้กับกรมที่ดิน เว้นแต่จะเป็นการรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินเดิม ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
- ค่าธรรมเนียมในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินแห่งใหม่ : สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดสินเชื่อรีไฟแนนซ์ในสัญญาฉบับใหม่นั้น บางสถาบันการเงินก็ไม่เรียกเก็บ ในขณะที่บางแห่งก็จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตั้งแต่ร้อยละ 0 – 3 ของวงเงินกู้ใหม่ โดยผู้กู้จะต้องจ่ายชำระให้กับทางสถาบันการเงินแห่งใหม่นั่นเอง
- ค่าประเมินราคาหลักประกัน : โดยทั่วไป ทางสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้แห่งใหม่จะคำนวณราคาของหลักประกันจากทำเลที่ตั้ง, วงเงินที่ขอกู้ และอิงตามราคาประเมินของกรมที่ดิน ซึ่งจะเฉลี่ยอยู่ตั้งแต่ร้อยละ 0.25 – 2 ของราคาประเมินจากกรมที่ดิน หรือคิดเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ 1,500 ถึง 10,000 บาท อย่างไรก็ดี หากผู้กู้ต้องการขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านกับทางสถาบันการเงินเดิม ก็อาจไม่จำเป็นต้องชำระค่าประเมินในส่วนนี้
- ค่าอากรแสตมป์ตามวงเงินกู้ที่ยื่นขอ : สำหรับการยื่นขอรีไฟแนนซ์บ้านทุกครั้ง ผู้กู้จะมีหน้าที่จ่ายค่าอากรแสตมป์ ซึ่งคิดจากยอดวงเงินกู้ที่ยื่นขอไว้ ในอัตราร้อยละ 0.05 ของวงเงินขอกู้ใหม่
- ค่าประกันอัคคีภัยกับสถาบันการเงินแห่งใหม่: ไม่ว่าผู้กู้จะยื่นขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านจากสถาบันการเงินเดิมหรือสถาบันการเงินแห่งใหม่ก็ตาม ค่าทำประกันอัคคีภัยเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้กู้จะต้องชำระ โดยจะคิดจากมูลค่าของหลักประกัน หรือ บ้าน เช่น หากบ้านมีมูลค่า 1 ล้านบาท ค่าประกันอัคคีภัยจะเฉลี่ยอยู่ที่ราว ๆ 2,000 บาท ทั้งนี้ อัตราค่าประกันอัคคีภัยของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอาจแตกต่างกัน ผู้กู้จึงต้องพิจารณารายละเอียดของทางสถาบันการเงินนั้นๆ