ในช่วงนี้ กระแสของการหาซื้อบ้านเก่ามือสองหรือนำบ้านเก่าที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ หรือที่เรียกว่า renovate กำลังมาแรง เหตุผลก็เพราะการนำบ้านมือสองมาปรับปรุงใหม่สิ่งที่เจ้าของบ้านจะได้ก็คือ บ้านในเนื้อที่ทำเลที่ไม่ไกลในบรรยากาศและรูปแบบบ้านที่ทันสมัยขึ้นและสวยงามขึ้น ตรงใจผู้อยู่อาศัย เพราะการที่จะไปหาซื้อบ้านหลังใหม่เลยนั้น อาจจะได้บ้านใหม่ที่สวยและมีดีไซน์ที่ทันสมัยถูกใจ แต่เมื่อมองในเรื่องของทำเลที่ตั้งแล้ว บ้านที่สร้างใหม่ขายตามโครงการต่าง ๆ นั้น มักจะอยู่ในทำเลที่ค่อยข้างไกล ไปมาลำบาก หรือต้องใช้เวลาเดินทางแต่ละวันมาก บ้านสวยก็จริงแต่กว่าจะทำงานหรือทำภารกิจประจำวันได้กลับบ้านก็มืดค่ำแล้ว การเลือกที่จะนำบ้านหลังเก่ามาปรับปรุง Renovate ใหม่ จึงเป็นทางเลือกที่ดีและน่าสนใจมาก
เหตุผล 5 ประการที่การปรับปรุงบ้านเก่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็คือ
- ได้ทำเลที่ใกล้ไปมาสะดวก
ดังที่ได้กล่าวไปขั้นต้นว่า การเลือกปรับปรุงบ้านเก่าเพื่ออยู่อาศัยนั้น ข้อดีมาก ๆ ก็คือ ทำเลที่ตั้งที่หาได้ยากแล้ว สำหรับบ้านหลังใหม่ ๆ หลายคนที่กำลังมองหาบ้านเพื่อจะอยู่อาศัย จำนวนไม่น้อยที่ต้องการทำเลที่ตั้งที่อยู่กลางเมืองหรือใกล้เมือง เพื่อจะได้คล่องตัวในการเดินทางไปทำงานและเรียนหนังสือ ทางเลือกที่คนส่วนใหญ่ต้องเลือกก็คือ คอนโดมิเนียม แต่อย่าลืมว่าการซื้อคอนโดมิเนี่ยม สิ่งที่ได้คือสิทธิครอบครองห้องชุด แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน การเลือกหาซื้อบ้านเก่าเพื่อปรับปรุงใช้อยู่อาศัย จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่คนเริ่มนิยม
- ได้อยู่ในชุมชนที่คุ้นเคย
หลายคนนำบ้านหลังเก่าที่เคยอยู่อาศัยเมื่อเด็กมาปรับปรุงเป็นเรือนหอ ก็ได้อยู่ใกล้กับเพื่อนฝูงญาติพี่น้องที่คุ้นเคย ไม่ต้องไปสร้างสังคมใหม่กับคนที่ไม่คุ้นเคย นับเป็นความสุขของชีวิตอย่างหนึ่งทีเดียว
- ได้กลิ่นไอบรรยากาศเก่า ๆ ที่คลาสสิก
บ้านเก่าบางหลังมีสถาปัตยกรรมของยุคสมัยต่าง ๆ ทั้งบ้านยุค 50 ปี 40 ปี 30 ปี 20 ปี ก่อน มีกลิ่นไอของความย้อนยุคหรือเรโทร ที่สามารถมาดัดแปลงให้ร่วมสมัยและสวยงามได้ด้วย
- โครงสร้างบ้านเก่ามักจะโอ่โถงแข็งแรง
จะสังเกตได้ว่าโครงสร้างการก่อสร้างเก่า จะมีพื้นที่ที่กว้างกว่าบ้านสร้างใหม่ ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่นและห้องนอน ห้องน้ำ เพียงแค่ปรับปรุงดัดแปลงบางส่วนก็โปร่งสบายและน่าอยู่แล้ว
- สามารถตั้งงบประมาณในการปรับปรุงได้ตามแต่ใจเรา
ข้อนี้เป็นอีกเหตุผลสำคัญ บ้านเก่ามีโครงสร้างมีการออกแบบมาแล้วในสไตล์หนึ่ง เมื่อต้องการปรับปรุงใหม่ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มี หากมีเงินมากก็ปรับปรุงครั้งใหญ่ได้ทั้งหลังจะให้สวยงามเป็นสไตล์ใดก็ย่อมได้ หากมีเงินจำนวนจำกัด ก็ปรับปรุงไปในส่วนต่าง ๆ ตามวัสดุที่อยู่ในงบประมาณได้
งบประมาณสำหรับปรับปรุงบ้าน 2 ชั้น
ในการปรับปรุงบ้านเก่า เรื่องสำคัญก็คืองบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุงบ้าน ซึ่งงบประมาณนั้นจะมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่แตกต่างกัน คือ
- ประเภทของบ้านสองชั้น มีสองประเภทหลักก็คือ
บ้านเดี่ยวสองชั้นและบ้านทาวน์เฮ้าส์สองชั้น บ้านทั้งสองประเภทนี้ แตกต่างกันตรงที่ขนาดบ้าน ตารางเมตรที่จะปรับปรุงบ้านมีพื้นที่ต่างกัน ค่าใช้จ่ายจึงต่างกันค่อนข้างมาก
- สำหรับบ้านที่เป็นทาวน์เฮ้าส์สองชั้นนั้น เมื่อสำรวจงบประมาณค่าปรับปรุงบ้านใหม่ในช่วงนี้คร่าว ๆ แล้ว จะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 300,000 บาท ถึง 350,000 บาท ซึ่งจะได้บ้านที่สวยครบทั้งปรับปรุงโครงสร้างภายในและการตกแต่งจะเห็นได้จากตัวอย่างในเว็บไซต์ดังตามลิงค์นี้ http://home.kapook.com/view126874.html
- สำหรับบ้านเดี่ยวสองชั้น งบประมาณขึ้นอยู่กับขนาดของบ้านเป็นสำคัญด้วย เพราะบ้านสองชั้นขนาด 120 ตรม. กับบ้านสองชั้นขนาดใหญ่ 340 ตรม. ย่อมจะใช้งบประมาณที่ต่างกันอย่างแน่นอน โดยเฉลี่ยแล้ว งบประมาณเบื้องต้นในการปรับรุงบ้านเดี่ยวสองชั้นเริ่มต้นที่ 5,000-10,000 บาทต่อตารางเมตร
- ลักษณะของการปรับปรุงบ้าน
ลักษณะในการปรับปรุงบ้านเป็นจุดหลักที่จะกำหนดงบประมาณของบ้าน เพราะบ้านแต่ละหลังความเก่าและความเสียหายจากอายุการใช้งานก็แตกต่างกัน หากบ้านที่มีการรื้อถอนโครงสร้างเพื่อทำใหม่อยู่ด้วย ทั้งมากและน้อยก็จะต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงสูงกว่าบ้านที่มีโครงสร้างที่สมบูรณ์อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ สเปซและการตกแต่งภายนอกเท่านั้น
หาแหล่งเงินในการปรับปรุงบ้านที่ไหนดี
เมื่อพูดถึงงบประมาณในการปรับปรุงบ้าน ในขณะที่เจ้าของบ้านอาจจะมีงบอยู่จำกัด แต่ต้องการจะปรับปรุงบ้านในหลายจุด ก็ขอแนะนำให้ทำเสียทีเดียวให้ครบทุกจุดหากทำได้ เพราะการปรับปรุงบ้านนั้นหากค่อย ๆ ทำทีละจุดระยะยาวจะใช้งบประมาณที่มากกว่าหรือบานปลาย นอกจากนั้นภาพรวมที่ได้ออกมาจะไม่สวยกลมกลืน บางกรณีเมื่อทำทีละจุดกลับเกิดปัญหากับจุดอื่น ไล่ทำไม่จบสิ้นได้ อาจจะใช้วิธียื่นขอสินเชื่อจากธนาคารต่าง ๆ ซึ่งมีให้บริการหลายโครงการ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
อ่านเพิ่มเติม : 10 อันดับ สินเชื่อบ้าน วงเงินกู้สูง ดอกเบี้ยต่ำ
วิธีการคุมงบประมาณการปรับปรุงบ้าน
แถมท้ายด้วยข้อแนะนำในการคุมงบประมาณการปรับปรุงบ้านสองชั้นให้ไม่บานปลายก็คือ
– เริ่มแรกเลยเราต้องรวบรวมว่าเรามีงบประมาณในการปรับปรุงบ้านเบ็ดเสร็จเท่าไหร่ จากนั้นให้กันเงินในก้อนนั้นไว้ 20% เพื่อใช้สำหรับกรณีมีค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มมา
– นำตัวเลขของงบประมาณนั้น และความต้องการในรายละเอียดต่าง ๆ ที่จะปรับปรุงบ้านไปคุยกับบริษัทหรือทีมงานที่เชี่ยวชาญและรับทำด้านนี้โดยตรง
– เมื่อได้ราคาที่ตกลงกันอย่างพอใจและพูดคุยเรื่องรายละเอียดของแบบและลักษณะการปรับปรุงแล้ว ให้เขียนสัญญาว่าจ้างที่รัดกุม โดยต้องละเอียดรอบคอบในสเปคของวัสดุและเรื่องมูลค่าเงินในจุดต่าง ๆ รวมถึงงวดในการชำระค่าปรับปรุงด้วย
– หมั่นมาตรวจหน้างานอยู่เสมอ และรอบคอบในการตรวจวัสดุที่สั่งให้ได้คุณภาพและสเปคตรงกับที่ตกลงไว้
– ไม่จ่ายเงินงวดต่อไปหากทีมงานปรับปรุงบ้านยังทำงานได้ไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้
ทั้งหมดที่นำเสนอมานี้เป็นแนวทางในการกำหนดงบประมาณ ควบคุมงบประมาณ ในการปรับปรุงบ้านสองชั้นซึ่งผู้อ่านสามารถนำไปเป็นข้อมูลประยุกต์ใช้ เพื่อให้ได้บ้านที่สวยและถูกใจในงบประมาณที่มีอยู่ได้