สินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐของธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารออมสินที่ได้เดินหน้าเพื่อให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยมีโอกาสได้มีบ้านเป็นของตัวเองตามนโยบายของรัฐบาลมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ถือเป็นเงินกู้โครงการพิเศษที่มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ของการให้กู้ ภายในกรอบวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 20,000 ล้านบาท และธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท จนถึงวันนี้ได้ผ่านมาเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว ประชาชนที่สนใจยังสามารถยื่นเอกสารเพื่อขอเงินกู้ได้ที่สาขาของธนาคารทั้งสองแห่ง
วันนี้เราจะมาดูรายละเอียดของวงเงินสินเชื่อกัน ว่าโครงการนี้ให้กู้ได้เท่าไหร่และเงินที่ต้องผ่อนคืนรายเดือนเป็นเงินเท่าไหร่ เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อให้เราสกรีนตัวเองก่อนว่าสินเชื่อนี้พอเป็นไปได้สำหรับเราหรือไม่ หากเราต้องการยื่นกู้บ้าง มาดูกัน
โครงการบ้านประชารัฐสำหรับประชาชนทั่วไป แยกเป็น 3 ประเภทย่อย ดังนี้
- วงเงินกู้เพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท
- วงเงินกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ราคาไม่เกิน 700,000 บาท
- วงเงินกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ราคามากกว่า 700,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,500,000 บาท
อัตราดอกเบี้ยของวงเงินกู้เพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติม วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท และวงเงินกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ราคาไม่เกิน 700,000 บาท ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ปีแรก ปีที่ 2-3 คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปีที่ 4-6 คิดอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 7 ไปจนครบอายุสัญญา คิดอัตราดอกเบี้ยที่ MRR-0.75%
ส่วนอัตราดอกเบี้ยของวงเงินกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ราคามากกว่า 700,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,500,000 บาท ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ในปีที่ 1-3 ปีที่ 4-6 คิดอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และปีที่ 7 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.75% ต่อปี
ระยะเวลาในการให้กู้ของโครงการประชารัฐเพื่อประชาชนทั่วไปสูงสุดอยู่ที่ 30 ปี เวลาดูเงื่อนไขเรื่องวงเงิน ดอกเบี้ยและระยะเวลากู้ เราจะมองไม่ค่อยออกว่ามันเป็นอย่างไร เราจะจ่ายไหวหรือไม่ แต่หากเรารู้ยอดเงินที่จะต้องผ่อนคืนรายเดือน แบบนั้นจะทำให้เราเข้าใจและประเมินตัวเองได้มากกว่า ก่อนที่จะตัดสินใจยื่นเพื่อขอกู้เงิน
อย่างนั้นเรามาดูกันว่าสินเชื่อโครงการประชารัฐนี้มียอดที่ต้องผ่อนคืนรายเดือนอย่างไรบ้าง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ทำตัวอย่างประมาณการเงินงวดผ่อนชำระโครงการบ้านประชารัฐสำหรับวงเงินกู้ที่แตกต่างกันไว้
วงเงินกู้ไม่เกิน 7 แสนบาท
www.ghbank.co.th
กรณีกู้เงินเพื่อซื้อหรือสร้างบ้านวงเงินไม่เกิน 700,000 บาท หากวงเงินกู้ที่อนุมัติเป็น 700,000 บาท เลือกผ่อนสูงสุด 30 ปี ค่างวดรายเดือนที่จะต้องจ่ายในปีที่ 1-3 คือ 3,000 บาทต่อเดือน หลังจากนั้นในปีที่ 4-6 ก็เงินค่างวดที่ต้องจ่ายจะเพิ่มเป็น 4,100 บาทต่อเดือน และตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไปเงินค่างวดจะเพิ่มเป็น 4,500 บาทต่อเดือน แต่หากเราเลือกผ่อนไม่ถึง 30 ปี เช่น 10 ปี ค่างวดที่เราผ่อนก็จะเพิ่มขึ้นและถ้าวงเงินกู้ที่อนุมัติไม่ถึง 700,000 บาท ค่างวดรายเดือนที่จะต้องผ่อนก็จะลดลงไปตามวงเงินที่กู้ด้วย (ดูได้จากตาราง)
กรณีกู้เงินเพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้านในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท นั้น ก็ใช้ตัวอย่างตารางนี้เช่นเดียวกัน โดยให้ดูบรรทัดที่เป็นวงเงิน 500,000 บาท จะเห็นว่าค่างวดที่ต้องผ่อนรายเดือนหากเลือกผ่อนแบบ 30 ปี จะอยู่ที่เดือนละ 2,100 บาทต่อเดือน ในปีที่ 1-3 ปีที่ 4-6 ค่างวดจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,900 บาทต่อเดือน และตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไปจะเพิ่มเป็น 3,200 บาทต่อเดือน (ดูได้จากตาราง)
วงเงินกู้มากกว่า 700,000 บาท แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
www.ghbank.co.th
ส่วนกรณีกู้เงินเพื่อซื้อหรือสร้างบ้านวงเงินมากกว่า 700,000 บาท แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ลองดูที่วงเงินกู้ที่อนุมัติสูงสุดที่ 1.5 ล้านบาท หากเลือกผ่อนสูงสุด 30 ปี ค่างวดรายเดือนที่จะต้องจ่ายในปีที่ 1-3 คือ 7,200 บาทต่อเดือน หลังจากนั้นในปีที่ 4-6 ก็เงินค่างวดที่ต้องจ่ายจะเพิ่มเป็น 8,900 บาทต่อเดือน และตั้งแต่ปีที่ 7 เป็นต้นไปเงินค่างวดจะเพิ่มเป็น 9,700 บาทต่อเดือน แต่หากเราเลือกผ่อนไม่ถึง 30 ปี เช่น 10 ปี ค่างวดที่เราผ่อนก็จะเพิ่มขึ้นและถ้าวงเงินกู้ที่อนุมัติไม่ถึง 1.5 ล้านบาท ค่างวดรายเดือนที่จะต้องผ่อนก็จะลดลงไปตามวงเงินที่กู้ด้วย (ดูได้จากตาราง)
ตัวอย่างตารางค่างวดที่ต้องจ่ายคืนต่อเดือนทำให้เรามองภาพออกได้มากกว่าว่าวงเงินสินเชื่อเท่าไหร่ต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ เราสามารถดูที่ตารางนี้เพื่อประเมินคร่าว ๆ ก่อนได้ว่าหากเราขอกู้ในวงเงินเท่าไหร่ ผ่อนนานแค่ไหนจะต้องจ่ายค่างวดเป็นเงินเดือนละเท่าไหร่ เมื่อประเมินเบื้องต้นแล้วดูน่าสนใจคิดว่าอยากขอกู้ ก็ให้เตรียมเอกสารเพื่อติดต่อที่ธนาคารทั้งสองแห่งได้
แต่ก่อนยื่นเอกสารเพื่อขอกู้ต้องทราบเงื่อนไขเบื้องต้นของโครงการประชารัฐก่อนว่าเป็นโครงการที่ให้เงินกู้กับประชาชนสำหรับผู้ที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนเท่านั้น และหากเป็นการกู้เพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติม ราคารวมของทั้งที่ดินและที่อยู่อาศัยจะต้องไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และต้องเป็นที่ดินและบ้านที่ปลอดภาระหนี้ด้วย ผู้กู้จะต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป และเมื่ออายุรวมกับระยะเวลาที่จะต้องผ่อนชำระคืนต้องไม่เกิน 65 ปี
สำหรับเอกสารที่จะต้องเตรียมเพื่อยื่นขอเงินกู้กับธนาคารมีดังนี้
เอกสารส่วนบุคคล
- บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ
- ทะเบียนบ้านฉบับที่ผู้กู้มีชื่อเป็นเจ้าบ้าน
- สำเนาทะเบียนสมรส / สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
เอกสารแสดงฐานะทางการเงิน
- ใบรับรองเงินเดือน / หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ
- สลิปเงินเดือน / หลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน
- สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน กรณีเป็นพนักงานประจำและ 12 เดือน กรณีมีอาชีพอิสระ / หลักฐานแสดงฐานะทางการเงินเพิ่มเติม (ถ้ามี) และให้นำหลักฐานฉบับจริงไปแสดงด้วย
- สำเนาทะเบียนการค้า / ทะเบียนบริษัท / ทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด
- หลักฐานการเสียภาษีเงินได้
- รูปถ่ายของกิจการ
- สำเนาใบประกอบวิชาชีพ
เอกสารที่เป็นหลักประกันเงินกู้ที่ต้องใช้ มีดังนี้
- สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย / สัญญาวางมัดจำ หรือสัญญาเช่าซื้อของการเคหะ
- สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับกรมที่ดิน
- สำเนาโฉนดที่ดิน, น.ส. 3 ก., หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดทุกหน้า