นักลงทุนหน้าใหม่ที่สนใจการเล่นหุ้น และตัดสินใจแล้วว่าได้ฤกษ์ลงมือปฏิบัติการแล้ว หลังจากเฝ้าอ่านหนังสือ ศึกษาทางทฤษฎีมาพอสมควร วันสองวันนี้จะไปเปิดบัญชี เริ่มต้นเล่นหุ้น ลงทุนอย่างจริงๆจังๆเสียที เมื่อตัดสินใจแล้ว ก็เดินทางไปที่โบรกเกอร์ บอกเจ้าหน้าที่ว่า มาขอเปิดบัญชีหลักทรัพย์ หรือถ้าใครไม่อยากไปที่โบรกเกอร์ ก็สามารถโทรไปที่บริษัทเขาได้เลย บอกว่าให้ส่งแบบฟอร์มของเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือบัญชีเล่นหุ้นมาทางไปรษณีย์ ในใบคำขอเปิดบัญชีจะมีส่วนที่ต้องกรอกข้อมูลหลายส่วน เช่น ข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัคร วัตถุประสงค์การลงทุน บัญชีธนาคารและอื่นๆ ก็กรอกไปตามความเป็นจริงได้เลย
สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งของการขอเปิดบัญชีคือ จะมีหัวข้อให้เลือกว่าจะเลือกเปิดบัญชีประเภทใดบ้าง (เฉพาะบัญชีหลักทรัพย์ ยังไม่รวมบัญชีซื้อขายล่วงหน้า หรือที่นิยมเรียกกันว่า TFEX ซึ่งบทความนี้ยังไม่ขอกล่าวถึง)
บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือบัญชีซื้อขายหุ้น จะมี 3 ประเภท
1 บัญชีเงินสด (Cash Account)
บางโบรกเกอร์อาจมีชื่อเรียกต่างกัน แต่โดยหลักการแล้วจะเหมือนกัน บัญชีเงินสดคือ บัญชีที่บริษัทฯพิจารณาอนุมัติวงเงินในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ตามเกณฑ์ของบริษัทฯ จากเอกสารประกอบทางการเงิน เช่น สลิปเงินเดือนล่าสุด สำเนาแสดงรายการบัญชีธนาคารย้อนหลัง 3 เดือน การชำระราคาหลักทรัพย์ คือค่าซื้อ และรับค่าขายหลักทรัพย์ จะทำผ่านระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ ATS ผ่านทางบัญชีธนาคารที่ลูกค้าแจ้งไว้ พูดให้สั้นๆคือ บัญชีเงินสดนี้ โบรกเกอร์จะให้วงเงินกับลูกค้า เช่น ถ้าให้วงเงิน 100000 บาท หมายความว่าเราจะซื้อหุ้นได้สูงสุด ไม่เกิน 100000 บาท เมื่อซื้อวันนี้ อีก 3 วัน บริษัทจะหักเงินจากบัญชีธนาคารของลูกค้า ถ้าซื้อหุ้นวันจันทร์ วันพฤหัสบดีเงินจะถูกหักไปจากบัญชี
ข้อดีของบัญชีนี้คือ เหมาะกับคนที่ชอบเล่นแบบ ไม่ถือข้ามวันหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Day trade การไม่ถือข้ามวัน แสดงว่า ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน เราจะขายในวันที่ซื้อเลย ส่วนผลกำไรหรือขาดทุนจะถูกโอนเข้าหรือหักออกจากบัญชีธนาคารในอีก 3 วันถัดไป เหมาะกับคนที่ไม่มีเงินก้อนใหญ่ แต่ใช้วงเงินในการซื้อขาย ถ้าเรามีวงเงิน 100000 บาท ก็มีอำนาจซื้อได้ 100000 บาท เงินได้เสียจริงๆก็ตกประมาณ หลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่น คือเราไม่ต้องมีเงินสด 100000 บาทอยู่ที่ธนาคาร ก็ได้ แต่เรามีอำนาจซื้อได้ถึง 100000 บาท แต่มีข้อแม้คือ ต้องขายในวันที่ซื้อ เพราะถ้าซื้อแล้วไม่ขายในวันนั้น อีก 3 วัน โบรกเกอร์จะไปหักค่าซื้อจากบัญชีธนาคาร ถ้าเราไม่เงินในธนาคารหรือมีไม่พอจ่ายค่าซื้อหุ้น จะต้องเสียค่าปรับและอาจถูกโบรกเกอร์บังคับขายหุ้นเราทิ้งได้เลย บัญชีแบบนี้ดูเหมือนจะดีสำหรับคนที่มีเงินในธนาคารน้อยๆ แต่มีวงเงินซื้อขายเยอะๆ แต่ถ้ามองกันลึกๆแล้ว บัญชีแบบนี้มีโอกาสทำให้เราซื้อขายเกินตัว และอาจเอื้อให้นักเล่นหุ้นกลายเป็นนักพนันไปได้
นักเล่นหุ้นมือใหม่ ยังไม่มีความรู้ความชำนาญและยังไม่เคยเจอวิกฤตที่รุนแรงของตลาดหุ้น สิ่งที่ต้องระวังให้มากคือ ควรจะซื้อขายตามจำนวนเงินที่มีจริงๆหรือในวงเงินที่เราเสี่ยงได้จริงๆเท่านั้น เพราะสิ่งที่เรียกว่าวงเงินนั้น อาจจะมีมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินจริงๆที่นักเล่นหุ้นมีก็ได้ วงเงินได้มาจากการพิจารณาแบบคร่าวๆจากประวัติทางการเงินที่โบรกเกอร์ดูจากข้อมูลที่เราส่งให้ ถ้าว่ากันตามจริงก็อาจไม่ค่อยละเอียดมากนัก สิ่งสำคัญคือ นักเล่นหุ้นต้องรู้จักตัวเอง ต้องซื่อสัตย์กับตัวเองว่า เราเสี่ยงได้เท่าไหร่กันแน่ เพราะถ้าเล่นเกินตัวแล้วขาดทุนขึ้นมา แล้วเงินที่มีไม่พอใจก็จะทำให้เดือดร้อนได้ ที่กล่าวมาคือมุมหนึ่งของการซื้อขายในบัญชีประเภทเงินสดเท่านั้น ข้อดีและข้อจำกัดต่อบัญชีประเภทยังมีอีก แต่ผู้เขียนเห็นว่า ก็เป็นข้อที่พื้นๆธรรมดา ไม่มีอะไรให้น่ากังวลใจกับมือใหม่มาก จึงไม่ขอกล่าวถึง ส่วนที่ต้องระวังจริงๆของบัญชีประเภทนี้คือ เปิดโอกาสให้ซื้อขายเกินตัวได้ และจะนำความเดือดร้อนมาสู่นักเล่นหุ้นหน้าใหม่ในที่สุด