การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หรือบัญชีที่ใช้ในการเล่นหุ้น โดยทั่วไปมี 3 ประเภทคือ บัญชีเงินสด บัญชีเงินกู้ และบัญชีแบบฝากเงินล่วงหน้า บัญชีแต่ละประเภทอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยตามแต่ละบริษัทจะเรียกขานและกำหนด แต่หลักการและข้อตกลงของบัญชีจะเป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกบริษัท ทุกโบรกเกอร์ บทความนี้จะกล่าวถึงการเล่นหุ้นด้วยบัญชีเงินกู้เป็นหลัก
อ่านเพิมเติม : มือใหม่จะเริ่มต้นเล่นหุ้นด้วยบัญชีแบบไหนดี ?
ในตอนเริ่มต้นที่เรากรอกใบคำขอเปิดบัญชี จะมีส่วนที่ต้องเลือกประเภทบัญชี ว่าจะขอเปิดบัญชีเงินสด บัญชีเงินกู้ หรือบัญชีแบบฝากเงินล่วงหน้า
ในความเป็นจริง ไม่มีการกำหนดว่า จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เราสามารถเลือก 1 อย่าง 2 อย่าง หรือเลือกทั้ง 3 เลยก็ได้ ซึ่งบัญชีแต่ละประเภทจะมีความเหมาะสมและตอบโจทย์การเล่นหุ้นและการลงทุนที่แตกต่างกันไป บัญชีเงินกู้ หรือที่รู้จักกันดีเรียกเรียกกันติดปากในหมู่นักเล่นหุ้นว่า บัญชีมาร์จิ้น [margin acc] หรือ เครดิตบาลานซ์ [credit acc] หลักใหญ่ใจความของบัญชีนี้คือ ถ้าเรามีเงิน 100000 บาท โบรกเกอร์จะให้เงินยืมอีก 100000 บาท รวมเป็น 200000 บาท โดยเราจะต้องฝากเงินเข้าไปในโบรกเกอร์ 100000 บาทก่อนด้วย คล้ายกับว่า ฝากไปเป็นหลักประกัน
บัญชีเงินกู้นี้มีส่วนประกอบหลัก 2 อย่างคือ วงเงินกู้ กับ เงินวางประกัน
วงเงินกู้ จะได้มาจากการพิจารณาหลักฐานทางการเงิน คือ สลิปเงินเดือน สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 3 เดือน หลักทรัพย์อื่นๆ วงเงินนี้จะได้มาในครั้งแรกคร่าวๆก่อนเมื่อเปิดบัญชีได้สำเร็จแล้ว แต่ยังไม่สามารถซื้อหุ้นได้จนกว่าเราจะฝากเงินเข้าไปเป็นหลักประกัน สมมติว่าตอนแรกเริ่มเปิดบัญชี โบรเกอร์อนุมัติวงเงินสำหรับบัญชีประเภทเงินกู้ [margin acc] แก่เรา 200000 บาท หากเราจะประสงค์จะซื้อหุ้น เราจะต้องฝากเงินเข้าไปในโบรกเอร์ 100000 บาท ก่อน จึงจะซื้อหุ้นได้ แต่ถ้าเรามีเงินแค่ 50000 บาท จะฝากเข้าไปได้หรือไม่ ฝากได้ แต่อำนาจในการซื้อหุ้นของเรา จะเท่ากับ 100000 บาท หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เราจะมีอำนาจซื้อเท่ากับ 2 เท่าของเงินวางประกัน ถามว่า ได้รับวงเงิน 200000 บาท แต่ฝาก 5000 บาท ได้หรือไม่ ตอบว่าได้ และมีอำนาจซื้อได้ถึง 10000 บาทอีกด้วย
สิ่งที่ต้องรู้เพิ่มเติมสำหรับบัญชีเงินกู้ก็คือ
เราไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นครบตามวงเงินที่โบรกเกอร์ให้คือ 2 เท่าของเงินหลักประกัน เพราะส่วนที่เงินส่วนที่เกินจากหลักประกัน จะถูกโบรเกอร์คิดดอกเบี้ย เช่น เราได้วงเงินมา 200000 บาท ฝากเงินเป็นหลักประกันเข้าไป 100000 บาท นั่นแสดงว่าเรามีอำนาจซื้อหุ้นได้ถึง 200000 บาท วันแรก เราซื้อหุ้นไป 100000 บาทเท่ากับจำนวนเงินที่เราฝากเข้าไปเป็นหลักประกัน ถ้าพูดกันตามตรงก็คือ เงินส่วนนี้เป็นเงินของเราจริงๆ คือเงินที่เรามีอยู่จริง เมื่อเราซื้อหุ้นไป 100000 บาท ก็เปรียบได้ว่าเราใช้เงินตัวเองซื้อ พอวันที่สอง เราอยากซื้อหุ้นอีก 50000 บาท เราก็สามารถซื้อได้ทันที แต่เงิน 50000 บาทนี้เป็นเงินส่วนที่โบรกเกอร์ให้เรายืม ซึ่งจะถูกคิดดอกเบี้ย ไปตามจำนวนวันที่เรายังถือหุ้นตามมูลค่านี้อยู่ เมื่อเราขายทั้งหุ้นได้เงินมา 30000 บาท จะยังเหลือเงินอีก 20000 บาท ที่ต้องถูกคิดดอกเบี้ย คิดง่ายๆว่า ถ้าค่าซื้อหุ้นนั้นเกินกว่าค่าหลักประกันที่เราวางไว้ ส่วนที่เกินนั้นจะถูกคิดดอกเบี้ย เสมือนกับว่า เงินที่เกินนั้น โบรกเกอร์ให้เรากู้ไปซื้อหุ้นนั่นเอง จึงเป็นที่มาของคำว่า บัญชีเงินกู้
การเล่นหุ้นด้วยบัญชีเงินกู้
กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นบัญชีที่โบรกเกอร์เปิดโอกาสให้เรากู้เงินเพื่อไปซื้อหุ้นได้ โดยต้องวางเงินหลักประกัน ก็จะทำให้เรามีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ต้องเสียดอกเบี้ยในส่วนที่เป็นเงินกู้ ข้อดีและข้อเสียสำหรับบัญชีประเภทนี้ มองได้ทั้งสองมุม ถ้าซื้อหุ้นถูกทางก็นับว่าเป็นสิ่งดีที่เราซื้อได้มากกว่ากว่าเงินที่เรามีอยู่จริง ถึงจะต้องเสียดอกเบี้ยบ้างแต่ก็กำไร หากซื้อแล้วหุ้นลง ก็จะทำให้เราเสียทั้งดอกเบี้ยและเสียในส่วนของเงินทุน และหากถึงจุดหนึ่งที่ขาดทุนมากจนถึงเกณฑ์ที่กำหนด โบรกเกอร์จะเรียกหลักประกันเพิ่ม หากเราไม่สามารถนำเงินไปวางเป็นหลักประกันเพิ่มได้ โบรเกอร์จะสามารถบังคับขายหุ้นเราทิ้งได้ แม้ว่าจะขาดทุนอยู่ก็ตาม ซึ่งรายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับบัญชีเงินกู้นี้ จะขอเขียนถึงในโอกาสต่อไป
หากถามว่า นักเล่นหุ้นมือใหม่ควรเล่นด้วยบัญชีเงินกู้หรือไม่ ขอตอบว่ายังไม่จำเป็น เพราะจะว่าไปแล้วก็เหมือนกับเราเล่นเกินตัวในส่วนที่เราต้องไปกู้โบรกเกอร์มาเล่น อย่าลืมว่าตามสื่อโซเชี่ยล ตามแผงหนังสือ ส่วนห็มีแต่เชียร์ให้ซื้อให้เข้ามาลงทุนในหุ้นกันทั้งนั้น ไม่ค่อยมีใครชี้ให้เห็นถึงอันตรายหรือความเดือดร้อนจากการเล่นหุ้นเลย อย่าลืมว่า คนส่วนใหญ่ขาดทุนจากการเล่นหุ้น และการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง