ไม่ว่าจะด้วยภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้มนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คนต่างก็เบนเข็มตัวเองออกมาทำธุรกิจของตนเองกันมากขึ้น หรือ จะเป็นเพราะค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่เพิ่งศึกษาระดับปริญญาตรีจบกัน ต่างก็เลือกที่จะวัดความสำเร็จของตนเองด้วยการเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าจะไปเดินหางานสมัครเป็นพนักงานกินเงินเดือนเหมือนในอดีตที่ผ่าน ๆ มาค่ะ และไม่ว่าคุณ หรือ คนที่คุณรู้จักกำลังจะหันหัวเรือมาเป็นเจ้าของกิจการเองด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่คุณ ๆ ต้องรู้กันไว้ก่อนก็คือ การจะขอสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจนั้น บางรายที่ไม่สามารถขอวงเงินสินเชื่อให้ผ่านได้นั้น น่าจะเป็นเพราะสาเหตุอะไรกันบ้างคะ
สิ่งที่คุณ ๆ ควรต้องเตรียมไว้ก่อนที่จะเดินเข้าไปขอสินเชื่อจากธนาคารก็คือ
ข้อแรก เรื่องของหลักทรัพย์ค้ำประกัน ค่ะ เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่พลาดการขอสินเชื่อเพราะไม่มีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ทีนี้ ถ้าคุณเป็นเพียงผู้ประกอบการรายย่อย หรือ ธุรกิจขนาดเล็ก หรือ เพิ่งจะเริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ ก็ตามค่ะ โดยหลักทรัพย์ที่มักจะใช้เพื่อค้ำประกันก็อาจจะเป็น โฉนดที่ดิน, บ้าน, ห้องชุดคอนโด หรือ สิ่งที่ผู้ขอกู้มักจะนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็คือ บ้านที่ผู้ขอกู้พักอาศัยอยู่นั่นเองค่ะ แต่ต้องเป็นบ้านที่ไม่ได้ติดจำนอง หรือ ติดภาระผ่อนสินเชื่ออยู่กับทางธนาคารใด ๆ นะคะ เพราะจะไม่สามารถนำมาจำนองเพิ่มอีกทางหนึ่งได้ค่ะ แต่ถ้าไม่มีหลักทรัพย์จริง ๆ บางสถาบันการเงินก็ยอมรับที่จะใช้บุคคลค้ำประกันแทนได้ค่ะ ซึ่งคน ๆ นั้นต้องมีรายได้ประจำหรือมีวงเงินมาค้ำประกันอยู่ระหว่าง 50,000 – 300,000 บาทขึ้นไปค่ะ แต่ในการใช้บุคคลค้ำประกันนั้น พอผู้ขอกู้หรือผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถแบกภาระหนี้ต่อไปได้ บางรายก็เลือกที่จะเงียบหาย ทำให้ผู้ค้ำประกันต้องมารับภาระหนี้ก้อนนี้ต่อไป และก็บ่อย ๆ ครั้งที่หนี้เงินก้อนนี้กลายเป็นหนี้เสียของทางธนาคารค่ะ การใช้บุคคลค้ำประกันจึงมีความเสี่ยงมากกว่าและโอกาสที่ธนาคารจะไม่อนุมัติวงเงินให้นั้นมีมากกว่าค่ะ
ข้อที่ 2 ที่คุณ ๆ ควรศึกษาไว้บ้างก็คือ ถึงแม้ว่าคุณจะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจแต่ถ้าคุณ ๆ ไม่มีประสบการณ์ทางด้านนั้น ๆ เลย โอกาสที่จะได้รับอนุมัติวงเงินก็ออกจะริบหรี่อยู่บ้างนะคะ ยิ่งถ้าการเริ่มดำเนินธุรกิจของคุณมาจากทฤษฏี Me too Business แปลเป็นภาษาไทยตรง ๆ ก็คือ ขอทำด้วยคน ประมาณว่าไปอ่านจากหนังสือพิมพ์ หรือ ดูทีวี เห็นคนอื่นเขาทำแล้วประสบความสำเร็จก็อยากจะขอทำตามด้วย เช่น เห็นร้านกาแฟหรือร้านเบเกอรี่คนแน่นเต็มร้านไปหมด ก็คิดว่าเราก็น่าจะเปิดขายได้เช่นกัน แต่ลึก ๆ แล้วตัวคุณเองนั้นไม่มีความรู้เรื่องกาแฟ หรือ ขนมเบเกอรี่เลยสักอย่าง ถ้าเป็นอย่างนี้ ธนาคารเขาก็มองไม่เห็นความสามารถในการบริหารจัดการของคุณ และประกอบกับเป็นธุรกิจที่ใคร ๆ ก็ทำกันมากมาย ดังนั้นเรื่องของความรู้และประสบการณ์ของผู้ขอกู้จึงสำคัญมาก ๆ สำหรับการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อค่ะ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ ความคิดของผู้ประกอบการที่มองว่าตนเองจะต้องสร้างรายได้จากธุรกิจของตนเท่านั้น เท่านี้ คือคิดแต่ว่าตัวเองจะต้องได้กำไร ทั้ง ๆ ที่ในมุมของธนาคารจะคิดตรงกันข้าม เพราะธนาคารจะคิดว่าแล้วถ้าไม่ได้ตามยอดขายที่วางไว้หล่ะ จะเป็นอย่างไร ผู้ขอกู้จะสามารถผ่อนชำระต่อไหวหรือเปล่า จุดนี้ ทำให้ทางธนาคารต้องคิดอย่างหนักก่อนจะให้วงเงินออกไป ยิ่งถ้าดูแววผู้ประกอบการแล้วไม่มั่นใจว่าจะบริหารงานได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า โอกาสที่จะให้วงเงินก็ยิ่งน้อยลงไปค่ะ
ข้อที่ 3 ก็คือ ขาด Business Plan หรือ แผนธุรกิจมายื่นประกอบ ขอบอกไว้ตรงนี้ ให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่รู้ไว้เลยว่า แผนธุรกิจคืออาวุธสำคัญที่คุณ ๆ ต้องลับให้พร้อมใช้งานค่ะ จะได้อนุมัติหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับอาวุธลับชิ้นนี้นั่นเองค่ะ โดยสาระในแผนธุรกิจนั้น ก็ควรบอกว่าคุณจะดำเนินธุรกิจอย่างไร, รายรับและรายจ่ายจะเป็นยอดเงินประมาณเท่าไร, จุดคุ้มทุนของธุรกิจอยู่ที่เท่าไร, ผลกำไรของธุรกิจจะเป็นเท่าไร และ แผนการดำเนินงานในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าจะพูดกันตามจริง แผนธุรกิจที่ผู้ประกอบการเขียนขึ้นมานั้น จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการมากกว่าแค่ใช้ขอเงินกู้ขอสินเชื่ออย่างเดียวค่ะ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะขอกู้หรือไม่ก็ตาม คุณจำเป็นต้องเขียนแผนธุรกิจไว้เพื่อเป็นแนวทางการทำธุรกิจของกิจการคุณเองค่ะ ทันทีที่คุณเริ่มเขียน คุณก็จะได้เริ่มวิเคราะห์หาต้นทุนในการเริ่มทำธุรกิจทั้งในเรื่องของทรัพย์สิน อย่าง อาคาร, สำนักงาน, เครื่องจักร และ การตกแต่งร้านต่าง ๆ หรือค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อย่างเช่น ต้นทุนการซื้อวัตถุดิบ, เงินเดือน, ค่าน้ำค่าไฟ และ ค่าประชาสัมพันธ์กิจการค่ะ ซึ่งในรายที่เริ่ม ๆ ทำธุรกิจก็อาจจะประมาณต้นทุนการจัดการต่าง ๆ ไว้ต่ำมากเกินไป ทำให้ธนาคารพิจารณาว่าเป็นการประเมินค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าความเป็นจริงแลปฏิเสธการให้กู้ หรือ อาจจะส่งกลับไปให้แก้ไขต้นทุนงบการลงทุนให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้นค่ะ แล้วถ้าคุณ ๆ ไม่สามารถปรับแก้ให้เหมาะสมได้ ก็อาจเสี่ยงที่จะถูกมองว่าผู้ขอกู้ขาดความเข้าใจที่แท้จริงต่อธุรกิจที่ตนจะลงทุนก็ได้ค่ะ
ทีนี้ ก่อนจะไปขอเงินกู้ทำธุรกิจ เราก็ควรเตรียมความพร้อมกันไว้ด้วยนะคะ