ช่วงนี้เดินไปไหนมาไหนก็จะได้ยินคนคุยเรื่องหุ้นกัน หุ้นขึ้น หุ้นลง หรือ เดินไปตามแผงหนังสือก็จะมีแต่หนังสือออมในหุ้น รวยด้วยหุ้น มีหุ้น หุ้น หุ้น เต็มไปหมด แล้วถ้าเราอยาก เปิดพอร์ตหุ้น เป็นของตัวเองบ้าง พวกนี้เค้าเลือกซื้อ-ขายกันยังไง ใช้อะไรมาเลือก … เราไปลองดูกันดีกว่า
การเลือกลงทุนในหุ้นจะมีเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ 2 ประเภทใหญ่ ใหญ่ คือ อันแรกการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของหุ้น ที่ใช้กันอยู่บ่อย บ่อย ได้แก่ งบการเงินประจำปี งบการเงินประจำไตรมาส และข่าวสารรายวันต่างๆ ของบริษัทที่เป็นเจ้าของหุ้นแต่ละตัว ภาพรวมทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ และอันที่สอง คือ การวิเคราะห์ทางเทคนิคของหุ้นแต่ละตัว ได้แก่ กราฟแท่ง กราฟรูปเทียน กราฟแนวโน้ม ฯลฯ ซึ่งแต่ละประเภทก็มีวิธีการใช้แตกต่างกันไป หากใครที่สนใจจะลงทุนในหุ้นคงจะต้องหาตำราหรือหนังสือมาศึกษากันอย่างละเอียดอีกที แต่สำหรับบทความนี้จะอธิบายแบบคร่าว คร่าว ว่าเราสนใจในหุ้นจริง จริงหรือเปล่า และมันเป็นเรื่องยากสำหรับเราหรือเปล่า ไปลองดูกันเลย
การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ก็จะประกอบไปด้วยข้อมูล 3 ส่วนหลัก คือ ข้อมูลเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งจะเป็นระดับโลกและระดับประเทศ ที่คุ้นเคยก็จะได้แก่ นโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล กฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทต่างๆ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน ค่า GDP เป็นต้น ถัดมาก็จะเป็นข้อมูลแยกตามอุตสาหกรรม เช่น ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ เทคโนโลยีและการสื่อสาร ฯลฯ และสุดท้ายก็คือ ข้อมูลการดำเนินงานของบริษัท ก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ หนึ่งข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น ประวัติกของผู้บริหารและคณะกรรมการชุดต่างๆ ของบริษัท การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ หรือนโยบายการบริหารงาน อีกส่วนคือ ข้อมูลเชิงปริมาณ ที่เราจะรู้จักกันดี คือ งบการเงิน ที่ประด้วยด้วย งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด โดยนักลงทุนที่จะเลือกหุ้นส่วนใหญ่ก็ใช้อัตราส่วนทางการเงินมาวิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัทเพื่อเลือกลงทุนหุ้นแต่ละตัวกันอีกที
ซึ่งข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแต่ละตัวก็แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจเลือกหุ้นของพวกเรา เช่น การศึกษาวงจรของกลุ่มอุตสาหกรรม การทำ SWOT Analysis หรือ การวิเคราะห์ข้อมูลบริษัท ส่วนใหญ่นักลงทุนมักจะศึกษาจาก แบบ 56-1 ที่บริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทจะต้องยื่นให้กับตลาดหลักทรัพย์ทุกปี
การวิเคราะห์แบบที่สอง คือ การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค เหตุผลที่เรียกว่าทางเทคนิคก็เพราะว่าเราจะใช้ข้อมูลราคาและปริมาณการลงทุนในอดีตมาศึกษาพฤติกรรมการลงทุนโดยใช้หลักทางสถิติ สำหรับคาดการณ์ราคาของหุ้นในอนาคตและช่วยให้ลงทุนใช้ดูจังหวะการซื้อหรือขายหุ้นแต่ละตัวได้ ซึ่งที่นิยมใช้กันส่วนใหญ่ก็เป็นกราฟหรือแผนภูมิประเภทต่างๆ เพราะเรามักจะคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กประถมได้ เช่น แผนภูมิแบบเส้น ที่ทำให้เรารับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น แต่เราจะไม่รู้ราคาเปิด-ปิดในและช่วงเวลา แผนภูมิแท่ง ช่วยให้เราได้รู้ถึงราคาเปิด-ราคาปิดของหุ้นในแต่ละวัน สูงหรือต่ำเท่าไร แผนภูมิสัญลักษณ์ เป็นกราฟที่แสดงความต้องการซื้อและต้องการขาย ซึ่งอันนี้จะช่วยให้เราสามารถเห็นสัญญาณที่ชัดเจนสำหรับจับจังหวะในการซื้อหรือขายหุ้นได้ และแผนภูมิแท่งเทียน จะเป็นการวิเคราะห์หุ้นแบบญี่ปุ่น ที่ช่วยให้เรารับรู้อารมณ์การลงทุนในตลาดได้เป็นอย่างดีตัวหนึ่ง ซึ่งแผนภูมิแท่งเทียนนี้มีลักษณะคล้ายกับแผนภูมิแท่ง แต่จะมีความละเอียดกว่า คือนอกจากจะบอกราคาเปิด ราคาปิดในแต่ละวันแล้ว ยังจะบอกราคาสูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวันของหุ้นด้วย
หลังจากที่นักลงทุนส่วนใหญ่อ่านกราฟแล้ว ก็จะดูแนวโน้มของราคาหุ้นว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลง และอีกอย่างที่เราจะได้ยินบ่อยๆ คือ การหาแนวรับและแนวต้านของราคาหุ้น โดยแนวรับ คือ เมื่อราคาหุ้นลดลงมาถึงระดับราคาหนึ่ง แล้วมีแรงซื้อเข้ารองรับ จึงทำให้ระดับราคาหุ้นมีแนวโน้มที่จะไม่ลดต่ำลง ส่วนแนวต้าน ก็จะตรงข้ามกับแนวรับนั่นก็คือ เมื่อระดับราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นไปถึงระดับราคาหนึ่ง แล้วมีแรงขายออกมามากๆ และแรงขายนั้นมีมากเพียงพอที่จะกดราคาหุ้นไม่ให้สูงไปกว่าระดับราคานี้แล้ว ซึ่งเทคนิคที่นักลงทุนมักจะใช้ตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น ก็คือ ซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นอยู่บริเวณแนวรับ และขายเมื่อหุ้นมีราคาอยู่บริเวณแนวต้าน
แล้วข้อมูลต่างๆ เราจะหาได้จากที่ไหน คำตอบก็คือ เมื่อเราสนใจลงทุนในหุ้นแล้ว ก็ไปเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่าโบรกเกอร์ หลังจากนั้นเราก็สามารถใช้บริการต่างๆ จากโบรกเกอร์ได้ เช่น รับข่าวสาร และบทวิเคราะห์ต่างๆ
เมื่อเราสนใจจะลงทุนในหุ้น อยาก เปิดพอร์ตหุ้น เป็นของตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญ คือ เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจ โดยหาหนังสือมาอ่านเอง หรือหากมีเวลาก็น่าจะให้คอร์สอบรมเรื่องการลงทุนทั้งที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์ หรือ จัดโดยเซียนหุ้นที่เขียนหนังสือต่างๆ ออกมาก็เป็นได้