หลายท่านคงเคยได้ยินคำแนะนำทางทีวี หนังสือ หรือเว็บไซต์เกี่ยวกับเทคนิค ลงทุนหุ้นแบบ DCA หรือย่อมาจาก Dollar-cost averaging สามารถอธิบายเป็นภาษาไทยว่าการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน ซึ่งถือว่าเป็นทฤษฎีและกลยุทธ์การลงทุนประเภทหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถลงทุนในตลาดทุนได้อย่างต่อเนื่อง โดยการซื้อหุ้นทุนจำนวนหนึ่งด้วยจำนวนเงินคงที่ในแต่ละเดือน เมื่อครบ 1 ปีก็วัดผลโดยนำต้นทุนเงินทั้งหมดที่ซื้อไปหารด้วยจำนวนหุ้นที่ซื้อได้ ก็จะได้อัตราต้นทุนต่อหุ้นแบบถัวเฉลี่ยที่อาจจะต่ำกว่าราคาต่อหุ้น ณ ปัจจุบันก็เป็นได้ มีโอกาสที่จะได้กำไรจากการลงทุนนั้นด้วยกลยุทธ์ ลงทุนหุ้นแบบ DCA
กลยุทธ์ ลงทุนหุ้นแบบ DCA เหมาะกับใคร
การลงทุนแบบ Dollar-cost averaging มีหลักการสำคัญคือความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เน้นวินัยการซื้อและความมั่นคงทางจิตใจ สามารถซื้อหุ้นได้โดยไม่สนใจราคา ณ วันที่ขายว่ามีราคาเท่าใด แต่ให้ซื้อด้วยจำนวนเงินที่กำหนดไว้ทุก ๆ เดือน เช่น หลังเงินเดือนออก ก็หักส่วนหนึ่งเป็นเงินออม และแบ่งเงินส่วนหนึ่งที่รับความเสี่ยงได้มาลงทุนแบบ DCA การลงทุนด้วยกลยุทธ์นี้เหมาะสมกับผู้ที่ไม่ได้มีเวลาติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดมากนัก หรือไม่อยากหวั่นไหวไปกับแรงกระเพื่อมขึ้น-ลงรายวัน รายสัปดาห์ของตลาดหุ้น และยังเหมาะสมกับผู้ที่ไม่รู้ว่าเวลาใดควรจะซื้อดี และเวลาที่ซื้อนั้นเป็นช่วงที่หุ้นมีราคาถูกพอหรือยัง
การใช้วิธี DCA ช่วยลดปัญหาจากการทุ่มเงินก้อนซื้อหุ้นตัวที่ต้องการแต่กลับมองสัญญาณผิดพลาดทำให้ซื้อผิดเวลาและยังขายไม่ทันหรือคัทลอสไม่เป็นจนทำให้ต้องติดดอยในที่สุด DCA เป็นการทยอยซื้อตามช่วงเวลาทุก ๆ เดือนเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้เห็นรอบการเคลื่อนไหวทั้งหมดในระยะเวลา 1 ปี บางคนนิยมทำต่อเนื่องเป็นเวลานานพร้อมกับการรอรับเงินปันผลตามช่วงระยะเวลาอีกด้วย
DCA ไม่ใช่การหลับหูหลับตาซื้อหุ้น
จริงอยู่ที่ DCA เหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาติดตามการเคลื่อนไหวของตลาด แต่ก็ไม่เหมาะกับคนที่ไม่เรียนรู้ศึกษาตลาดเลย โดยเฉพาะการซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ก่อนจะใช้วิธี DCA กับหุ้นตัวนั้นต้องศึกษาและเข้าใจประสิทธิภาพและความเป็นมาของบริษัทอย่างดี ไม่อย่างนั้นแล้วก็เป็นการลงทุนหุ้นผิดตัวไป ก่อนการลงทุนด้วยวิธี DCA จึงต้องมีความมั่นใจในความมั่นคงและความสามารถทำกำไรของบริษัทนั้นในระยะยาว โครงสร้างการบริหาร ธรรมาภิบาล ชื่อเสียง และประวัติการจ่ายเงินปันผล เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถลงทุนต่อเนื่องได้มากกว่า 1 ปี
DCA ไม่เหมาะกับคนที่ชอบเสี่ยง ชอบลุ้น
สำหรับนักลงทุนที่รู้สึกมีความสุขที่ได้ลุ้นการขึ้นลงของหุ้น ย่อมไม่เหมาะกับวิธีแบบ DCA แน่นอน เพราะว่าจะดูค่อนข้างน่าเบื่อ กับการซื้อหุ้นเดือนละ 1 ครั้งแล้วก็ต้องมีวินัยว่าจะไม่ซื้อ ไม่ขาย จนกว่าถึงเวลาที่กำหนด เรื่องนี้คงแล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคล ยกเว้นบางคนที่มีแนวคิดการทดลองการลงทุนหลายแบบแตกต่างกันเพื่อทดสอบว่าลงทุนแบบใดให้ผลดีที่สุด เช่น มีการจัดพอร์ตเพื่อทดลองซื้อหุ้นตัวเดียวกันด้วยวิธีซื้อขายตามจังหวะเวลา กับวิธี DCA เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ในช่วงเวลาเดียวกันที่ผ่านไปว่าให้ผลตอบแทนกลับคืนมากี่เปอร์เซ็นต์ ก็นับว่าเป็นแนวคิดที่ดีและเป็นการทดลองหาความรู้เองที่ดีกว่าการฟังคำบอกเล่าจากคนอื่นมากนัก
ถึงจะซื้อหุ้นแบบ DCA ก็ต้องติดตามตลาดอยู่เสมอ
เพราะเรื่องต่าง ๆ ในโลกธุรกิจล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้คุณจะเป็นคนที่เน้นการลงทุนแบบ DCA หรือมั่นใจว่าบริษัทมีความมั่นคงมากแค่ไหนก็ตาม ก็ยังต้องคอยติดตามการดำเนินการของบริษัทที่คุณเข้าถือหุ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีเงื่อนไขอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเงื่อนไขเดิมที่คุณใช้ตัดสินใจตอนลงทุนซื้อหุ้นนั้นเป็นครั้งแรก เช่น การเปลี่ยนตัวกรรมการบริษัท นโยบายจ่ายเงินปันผล ผลประกอบการและปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อเงินลงทุนของคุณ
ไม่ควรซื้อหุ้นแบบ DCA หลาย ๆ ตัวพร้อมกัน
เช่นเดียวกับการลงทุนหุ้นทั่วไป การซื้อหุ้นด้วยกลยุทธ์ของ Dollar-cost averaging ก็ต้องมีความพิถีพิถันและไม่ควรซื้อมากเกิน 2-3 ตัว เพราะมากกว่านั้นก็จะดูแลได้ไม่ทั่วถึง อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าผู้ลงทุนต้องรู้จักบริษัทที่ลงทุนให้ดีเสียก่อนไม่ต่างจากเป็นธุรกิจของตัวเอง หลายคนที่มองหุ้นต่าง ๆ เพียงผลกำไรหรือการทำกำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นในช่วงสั้น ๆ จึงเป็นสาเหตุให้มีคนจำนวนมากหลงไปกับราคาหรือความคิดที่จะทำกำไรได้สูง ๆ ในระยะเวลาอันสั้นและต้องติดดอยลงมาไม่ได้ก็มีไม่น้อย ดังนั้นควรเริ่มต้นแต่น้อยจะดีที่สุด แนะนำเพียง 1 ตัวเท่านั้นถ้าคุณเป็นนักลงทุนหน้าใหม่
การใช้เงินในการลงทุนหุ้นทุน แม้จะเป็นวิธีแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ Dollar-cost averaging ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุนหุ้นแบบทั่วไป คุณควรจะจำกัดเงินลงทุนตามพอร์ตการเงินที่แบ่งสัดส่วนไว้และไม่ลงทุนเกินกว่านั้น หลายคนที่ผิดพลาดเพราะเกิดความโลภอยากทำกำไรจึงนำเงินส่วนอื่นมาลงทุนซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเพราะว่าเสียวินัยทางการเงินและเกิดความเสี่ยงมากขึ้นด้วย คุณควรจะกำหนดการใช้เงินเพื่อการลงทุนเป็นสัดส่วนที่แน่นอนจากรายได้ต่อเดือนในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จากนั้นแล้วจะใช้วิธี ลงทุนหุ้นแบบ DCA หรือลงทุนแบบอื่น ก็ต้องแล้วแต่การตัดสินใจของแต่ละบุคคล