อาชีพเจ้าหน้าที่การตลาด(มาร์เก็ตติ้ง)ทางด้านหลักทรัพย์ หรือปัจจุบันมีชื่อเรียกใหม่แบบหล่อๆว่า “ที่ปรึกษาการลงทุน”เป็นหนึ่งในอาชีพในฝันของนักศึกษาจบใหม่หลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัณฑิตที่จบการศึกษามาทางด้านเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจหรือบัญชี ซึ่งนับว่าเป็นสายตรงของอาชีพนี้ก็จะยิ่งเพิ่มความสนใจให้กับอาชีพนี้เป็นอย่างมาก เพราะเคยได้ยินมาจากรุ่นพี่ว่าเป็นมาร์เก็ตติ้งทำงานเกี่ยวกับหุ้นได้เงินดีมาก บางช่วงจังหวะที่ตลาดหุ้นดีๆ มีโอกาสได้รับค่าคอมมิชชั่นมากกว่าเงินเดือนเด็กจบใหม่ 3-5 เท่าเลยทีเดียว จึงส่งผลทำให้มีบัณฑิตจบใหม่และคนทั่วไปให้ความสนใจกับอาชีพนี้เป็นอย่างมาก
แต่ …..พอชีวิตการทำงานจริงของอาชีพนี้เน้นหนักไปทางการหาโวลลุ่มเทรดจากลูกค้า ซึ่งโวลลุ่มเทรดนี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อลูกค้าทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ซึ่งในบางช่วงที่ตลาดซบเซาการหาโวลลุ่มก็เป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างลำบากเพราะนักลงทุนไม่อยากซื้อ-ขาย อยากถือเงินสดไว้เฉยๆมากกว่า โดยจากการที่เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน
ผู้เขียนเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาการลงทุนอาวุโสในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งอยู่หลายปี ทำให้ค่อนข้างคลุกคลีกับแนวคิดในการทำงานของเจ้าหน้าที่การตลาด(มาร์เก็ตติ้ง)ตามบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ที่คนนอกชอบเรียกกันเป็นอย่างดี โดยการที่จะประกอบอาชีพมาร์เก็ตติ้งด้านหลักทรัพย์ให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้ยากเย็นอะไรมากมายหนัก เพียงแต่ต้องมีความสามารถในการทำโวลุ่มให้มากหน่อย เพราะอาชีพนี้แท้ที่จริงแล้วก็คือเซลล์นั่นเอง เพียงแต่ของที่ขายนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ทางด้านหลักทรัพย์ ซึ่งขายยากกว่าสินค้าทั่วๆไป แต่มาร์ส่วนใหญ่มักจะมองข้ามเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการทำงานไป ทำให้ในระยะยาว หรือในสภาวะที่ตลาดหุ้นซบเซา จะส่งผลทำให้คนที่ประกอบอาชีพนี้ล้มหายตายจากออกไปจากวงการ บ้างก็ตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพไปเลยก็มีให้เห็นบ่อยๆเพราะสิ่งที่ทำให้เป็นอุปสรรคในการทำโวลลุ่มมีมากมายหลายปัจจัย แต่เหล่าบรรดามาร์เก็ตติ้งสามาถลดปัญหาเหล่านี้ไปได้ด้วยเคล็ดลับดังต่อไปนี้
-
จัดตารางเวลาในวันทำงานให้ดี
เป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้วว่าช่วงเวลาทำงานหลักๆของมาร์คือช่วงเวลาที่ตลาดเปิด ซึ่งแน่นอนกินเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น เวลานอกเหนือจากนั้นมาร์ก็ต้องทำงานด้านเอกสาร หรือเตรียมข้อมูลเพื่อพูดคุยกับลูกค้า หรือเดินทางออกไปพบปะลูกค้าบ้างซึ่งมาร์ต้องพยายามจัดตารางชีวิตการทำงานให้ดี มาเตรียมงานตั้งแต่เช้า ช่วง Trading Hours(โดยเฉพาะช่วงเวลาสำคัญหลังตลาดเปิดคือ10.00-11.00) อย่าพยายามลุกออกไปเข้าห้องน้ำหรือกินกาแฟเพราะถ้าลูกค้าโทรมาแล้วไม่มีคนรับสาย อาจพลาดโอกาสการทำโวลลุ่มได้อย่างน่าเสียดายเพราะลูกค้าส่วนใหญ่ถ้าเทรดสม่ำเสมอ เค้ามักจะมีบัญชีกับหลายโบรก ถ้าคุณไม่รับโทรศัพท์ เค้าก็โทรหาคนอื่นครับ
-
อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นลูกค้าโวลุ่มน้อย
มาร์เก็ตติ้งส่วนใหญ่ฝันอยากจะได้ลูกค้าพอร์ตใหญ่ๆทั้งนั้น เพราะยิ่งถ้าลูกค้าขนาดพอร์ตยิ่งใหญ่เป็นหลักสิบล้าน หรือร้อยล้านโอกาสที่ลูกค้าเหล่านั้นจะยิ่งซื้อ-ขายทีละมากๆยิ่งจะมีมากขึ้น การทำยอดหรือโวลุ่มเทรดจะสามารถทำได้โดยง่ายซึ่งชีวิตการทำงานจะสบายมากถึงมากที่สุดถ้ามีลูกค้าพอร์ตใหญ่ๆอยู่กับเราเยอะ แต่ชีวิตจริงจะมีมาร์เก็ตติ้งที่โชคดีแบบนั้นเพียงไม่ถึง 5% ของมาร์เก็ตติ้งของทั้งวงการ สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือลูกค้าเทรดกับมาร์น้อย แต่ถามคำถามมากมาย บางท่านหลบไปคีย์ผ่านอินเตอร์เนตเองเพื่อเซฟค่าคอมมิชชั่น จะได้เสียน้อยหน่อย มาร์ก็ยิ่งได้น้อยลงไปอีก ซึ่งในความเป็นจริงมาร์แทบจะไม่อยากยุ่งกับลูกค้าที่พอร์ตเล็กๆแต่โวลลุ่มน้อย แต่ไม่เสมอไป CEO บริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ยังเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดชั้นผู้น้อยอยู่ เค้าเคยมีลูกค้าอยู่คนนึงซึ่งเทรดน้อยมาก แต่โทรมาคุยทุกวันจนสนิทกันก็ให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี ผลก็คือผ่านไป 4 เดือนลูกค้าท่านนั้นได้แนะนำกลุ่มเพื่อนมาเปิดพอร์ต ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของทางจังหวัด และเทรดเยอะมากจนโวลลุ่มถล่มถลาย ผลก็คือ CEO ท่านนั้นจากพนักงานชั้นผู้น้อยก็ได้รับการโปรโมทเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ้างในวงการนักค้าหุ้นซึ่งถ้ามาร์เก็ตติ้งไม่หมิ่นลูกค้าที่เทรดน้อย ก็อาจได้รับโอกาสแบบนี้ได้
มีไลเซ่นเสริมบารมี
ซึ่งแน่นอนสังคมไทยโดยเฉพาะวงการการเงินการธนาคารบูชาไลเซ่นและใบปริญญายิ่งกว่าอะไรดี ซึ่งถ้าคนทั่วไปมองแบบนี้ เราในฐานะผู้ปฏิบัติงานก็ควรมีไลเซ่นสำคัญๆที่มีผลต่ออาชีพการเงิน โดยเฉพาะด้านวางแผนการเงินการลงทุนอย่างเช่น CFP (Certified Financial Planning ) เป็นต้น ซึ่งถ้ามองในมุมมองของบริษัทส่วนใหญ่ก็อยากจะให้พนักงานที่ปฏิบัติงานในด้านนี้ถือไลเซ่นประเภทนี้เช่นกัน เพราะในแง่ของการบริการลูกค้าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี
หาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ
โดยเฉพาะความรู้ทางด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งทางด้านปัจจัยพื้นฐานและทางด้านกราฟเทคนิค แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือความรู้ทางด้านกราฟเทคนิคซึ่งปัจจุบันแทบจะเป็นเครื่องมือหลักที่มาร์ใช้วิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อพูดคุยกับลูกค้า เนื่องจากกราฟเทคนิคถ้าฝึกจนชำนาญแล้ว ท่านสามารถวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้โดยใช้เวลาอันรวดเร็ว ทำให้ในการพูดคุยตอบคำถามลูกค้าจะทำได้โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน และมีโอกาสพูดคุยกับลูกค้าท่านอื่นๆอีกเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำโวลลุ่มครับ
ผู้เขียน:
อาจารย์ ธัญญพัฒน์ ธัญญศิริ
Facebook Fan page: @AjBraveTanjasiri