เชื่อว่าอาจจะมีหลายๆ คนได้ยินคำว่า Bitcoin มากันไม่มากก็น้อย ทั้งจากในสื่อ Social Media หรืออาจจะได้ยนจากกลุ่มเพื่อนของเราเองก็ได้ เรามาลองดูกันดีกว่า Bitcoin คือ อะไร ทำอะไรได้บ้าง ใช้แทนเงินได้หรือเปล่า ถูกกฎหมายหรือเปล่า แล้วถ้ามีคนมาชวนให้ลงทุนจะต้องระวังอะไรบ้าง
Bitcoin ที่ต่างประเทศจะถือว่าเป็น FinTech ประเภทหนึ่งที่ใช้สำหรับการโอนเงินระหว่างกันทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งในกลุ่มคนที่ใช้ Bitcoin กันก็มองว่าเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่สามารถใช้กันได้ทั่วโลก ทุกที่ทุกเวลา แต่ถ้าเป็นการให้ความหมายโดยธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นจะมองว่า Bitcoin คือ หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนระหว่างกันเท่านั้น ที่มีบางกลุ่มนำมาใช้สำหรับแลกเปลี่ยนกับสินค้า แลกเปลี่ยนกับเงินตราสกุลต่างๆ และบางครั้งก็อาจจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป เช่น Litecoin Peercoin หรือ Namecoin ก็แล้วแต่กลุ่มคนที่เล่นจะเรียกชื่อว่าอะไรกันบ้าง
อ่านเพิ่มเติม : Bitcoin คือ อะไร ? เหรียญสองด้านที่คนออนไลน์ต้องรู้
โดย Bitcoin นั้นถูกสร้างขึ้นมาเมื่อปี 2551 โดยนักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้นามแฝงชื่อว่า ซาโตริ นากาโมโตะ ซึ่งสร้าง Bitcoin โดยใช้หลักการที่ว่า การกระจายไปสู่เครือข่าย จึงทำให้ Bitcoin สามารถใช้แลกกันได้ทั่วโลก ทุกเพศ ทุกวัย ทุกที่ทุกเวลา เพราะการแลกเปลี่ยน Bitcoin นั้นทำกันบนโลกอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ซึ่งคนที่พัฒนาขึ้นมานี้มองว่าการทำธุรกกรรมผ่านบัตรเครดิตหรือธนาคารออนไลน์ทั้งนั้น ยังมีความปลอดภัยไม่เพียงพอผู้ใช้สามารถถูกขโมยข้อมูลได้ตลอดเวลา ก็เลยคิด สกุลเงินดิจิตอล ขึ้นมาใช้แทน
ด้วยลักษณะของ Bitcoin ที่ถูกสร้างขึ้นให้มีมูลค่าสามารถแลกเปลี่ยนได้ เช่น ให้เราสมัครโดยใส่เงินไป 10 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ จะได้รับมา 100 Bitcoin ในวันถัดๆ ไป มูลค่าของ Bitcoin ก็จะเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เราอยากที่จะลงทุนเพิ่มมากขึ้น มีการเก็งกำไรมากขึ้น มีกลุ่มธุรกิจที่เปิดเป็นตัวกลางให้มีการเสนอราคาซื้อขาย Bitcoin กันเพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าได้กำไรดีและเร็ว
และเมื่อปี 2557 นั้น บริษัทตัวกลางแลกเปลี่ยน Bitcoin ขนาดใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นปิดตัว โดยให้เหตุผลว่าบริษัทถูกลักลอบขโมยข้อมูล ทำให้บริษัทล้มละลายจึงส่งผลให้มูลค่าของ Bitcoin ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คนที่ทำธุรกรรมแลกเปลี่ยน Bitcoin กับบริษัทที่ว่านี้ต้องเสียเงินเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์นี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เลยต้องมีประกาศมาเตือนกัน
โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีข้อแนะนำในสำหรับคนที่อยากจะลองใช้ Bitcoin ให้มีความเข้าใจและระมัดระวังก่อนที่เข้าไปเล่น คือ
- Bitcoin ไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย
- มูลค่าของ Bitcoin จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเกิดจากการแลกเปลี่ยนกันภายในกลุ่มผู้ใช้ด้วยกัน มูลค่าของ Bitcoin จึงมีความผันผวนสูง และไม่สัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจที่เกิดจริง ถ้าเราจะเล่นหรือครอบครอง Bitcoin อาจจะต้องยอมรับความเสี่ยงได้ว่ามูลค่าของ Bitcoin อาจจะตกลงอย่างรวดเร็ว เช่น จาก Bitcoin ที่มีมูลค่า 100 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐในวันนี้ พอวันรุ่งขึ้นอาจจะเหลือมูลค่าเพียง 1 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐก็เป็นได้
- การเล่น Bitcoin นั้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้เราถูกขโมยข้อมูลได้ง่าย เพราะข้อมูล Bitcoin ของแต่ละคนจะถูกเก็บไว้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เท่านั้น เพราะฉะนั้นข้อมูล Bitcoin ของเราอาจจะถูกขโมยได้ เพราะการรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลต่างๆ นั้น ไม่เท่ากับสถาบันการเงินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
- คนที่เล่น Bitcoin นั้นจะไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย เนื่องจากระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin ทางอินเตอร์เน็ตนั้นไม่ได้เป็นช่องทางการชำระเงินตามกฎหมาย ดังนั้นหากมีบางกลุ่มใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงหรือเกิดปัญหาในการใช้งาน เช่น มีการโอน Bitcoin นี้ไปยังผู้รับผิดคนหรือผิดจำนวน หรือโอนไปยังร้านค้าแต่ไม่รับสินค้า การติดตามหาข้อมูลการโอนเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการฟ้องร้องนั้นอาจจะทำได้ยาก ซึ่งจะแตกต่างจากการโอนเงินผ่าน Internrt Banking ของธนาคารต่างๆ ที่ให้บริการ หรือผู้ให้บริการชำระเงินอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่ถูกกำหนดให้จะต้องมีระบบติดตามการทำรายการต่างๆ ของลูกค้า และพร้อมที่จะเรียกข้อมูลมาให้ตรวจสอบได้
Bitcoin ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีทางการเงินในรูปแบบใหม่ที่อาจจะเป็นที่นิยมในอนาคตก็เป็นได้ ที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายในประเทศไทยรองรับการทำธุรกรรมแบบนี้ แต่ถ้าใครสนใจอย่างจะเข้าไปศึกษาและลองเล่นก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่มีอยู่สูงมากและอาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายด้วย