บางครั้งเมื่อธุรกิจต้องก้าวต่อไปข้างหน้า การหาเงินทุนเพื่อมาขยายกิจการก็อาจจะจำเป็น ซึ่งบางคนก็หาเงินทุนโดยการหาหุ้นส่วนมาร่วมลงทุนเพิ่มเติม หรือบางคนก็มองหาการขอสินเชื่อจากธนาคาร เรามาลองดูกันว่ามีสินเชื่ออะไรบ้างที่ช่วยให้เราสามารถขยายธุรกิจได้
สินเชื่อแบบแรก คือ สินเชื่อแบบมีระยะเวลาที่ชัดเจน
ซึ่งเป็นสินเชื่อระยาวแบบ 5-20 ปี โดยจะกำหนดระยะเวลาการชำระคืนที่แน่นอนและมีจำนวนเงินการผ่อนชำระต่องวดที่ชัดเจน สินเชื่อแบบนี้จะเหมาะกับการเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ขยายกิจการ
สินเชื่ออีกประเภทก็คือ สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน
เป็นสินเชื่อระยะสั้นที่จะเหมาะกับการเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการ ยกตัวอย่างเช่น
วงเงินเบิกเกินบัญชี หรือที่เราจะได้ยินบ่อยๆ ว่าวงเงิน O/D (Overdraft)
ซึ่งเป็นวงเงินที่ธนาคารอนุมัติให้กับเราตามความสามารถในการชำระหนี้ของเรา จะทำให้เราสามารถเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้มากกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี และธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเฉพาะจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีเท่านั้น ซึ่งวงเงินเบิกเกินบัญชีนี้ จะเหมาะกับการใช้ชำระค่าสินเค้าหรือบริการด้วยเช็ค ด้วยความสะดวกสบายในการเบิกเงินใช้แบบนี้ จึงทำให้ดอกเบี้ยของวงเงินเบิกเกินบัญชีสูงกว่าสินเชื่อแบบ Term Loans ดังนั้นเพื่อไม่ให้เราเสียดอกเบี้ยมากจนเกินไป เมื่อนำเงินออกมาแล้วก็ควรที่จะชำระเงินคืนโดยเร็วเพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยสูงมากจนเกินไป
หรือจะเป็นการซื้อลดตั๋วเงิน
ซึ่งตั๋วเงินที่นี้ หมายถึง เช็ค ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน โดยเราจะนำสิ่งเหล่านี้ไปขายที่ธนาคาร ซึ่งธนาคารจะรับซื้อในราคาต่ำกว่าราคาที่ระบุตามหน้าตั๋วเงิน หรือที่เรียกกันว่าส่วนลด หรือจะเรียกว่าเป็นการจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารก็ไม่ผิดอะไร การขอสินเชื่อแบบนี้จะเหมาะกับกรณีที่จำเป็นต้องใช้เงินสดเพื่อมาหมุนเวียนภายในกิจการ แต่ไม่สามารถรอรับเงินได้ตามวันที่ที่ระบุในเช็คหรือตั๋วแลกเงินได้
นอกจากนี้แล้วก็ยังมีสินเชื่อสำหรับธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีก เช่น
สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้กำกับ
หรือที่จะเริ่มได้ยินกันในชื่อของ Nano Finance เป็นสินเชื่อที่ให้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ รายละไม่เกิน 100,000 บาท เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการต่างๆ และค่าธรรมเนียมรวมกันแล้วไม่เกิน 36% ต่อปี ซึ่งจะสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ เนื่องจากจะมีความยืดหยุ่นในการอนุมัติสินเชื่อมากกว่าสินเชื่อในแบบอื่นๆ เช่น เราอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเอกสารแสดงที่มาของรายได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องใช้หลักประกัน เหมาะสำหรับคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจที่ต้องการเงินทุนแต่มีหลักฐานทางการเงินไม่เพียงพอ เช่น ไม่มีสลิปเงินเดือนหรือไม่เคยเดินบัญชีกับธนาคาร ผู้ให้บริการส่วนใหญ่มักจะไม่ใช้ธนาคาร เช่น บริษัท ไทยเอช แคปปิตอล จำกัด หรือ บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด
การเช่าซื้อ (Hire Purchase) และลิสซิ่ง (Leasing)
เป็นสินเชื่อที่คล้ายกัน คือ เป็นการนำทรัพย์สินมาใช้ก่อนโดยที่เราไม่ต้องเป็นเจ้าของ แต่จะมีความแตกต่างกันเมื่อสิ้นสุดสัญญา โดยการเช่าซื้อกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินจะตกไปเป็นของผู้เช่าหากจ่ายเงินครบตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเราจะคุ้นเคยกันอยู่แล้วนั่นก็คือ สินเชื่อรถยนต์ที่เราใช้บริการกันอยู่ ส่วนอีกด้าน คือ การทำลีสซิ่ง ที่เราสามารถเลือกได้ 3 ทางเลือกที่จะระบุไว้ในสัญญาว่า จะซื้อ เช่าต่อ หรือคืนทรัพย์สินนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูง อายุการใช้งานยาวนาน หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว เช่น เครื่องจักร เครื่องถ่ายเอกสาร หรือเครื่องคอมพิวเตอร์
สินเชื่อสำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออก
สินเชื่อแบบนี้เป็นสินเชื่อระยะสั้น เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจนำเข้าและส่งออก ที่น่ากำลังจะเป็นที่น่าสนใจเพราะเดี๋ยวนี้มีหลายคนสนใจทำธุรกิจทางด้านนี้กันมากขึ้น มีสินเชื่อที่น่าสนใจ เช่น Packing Credit เป็นสินเชื่อที่ใช้เอกสารการสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศเป็นหลักประกัน เช่น ใบสั่งซื้อ สัญญาซื้อขาย Letter of Credit ที่ส่วนใหญ่แล้วธนาคารจะให้สินเชื่อประมาณ 60-80 % ของมูลค่าเงินที่ระบุในเอกสารการสั่งซื้อ ซึ่งจะส่วนให้ผู้ส่งออกมีเงินหมุนเวียนนำไปผลิตสินค้าก่อน
เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็สนใจที่อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากมีเงินทุนขยายกิจการ บางทีสินเชื่อธุรกิจก็อาจจะเป็นคำตอบหนึ่งสำหรับคนที่คิดจะเริ่มมีธุรกิจหรือคนที่อยากจะขยายธุรกิจแต่ยังไม่มีเงินลงทุนด้วยอีกทางหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม : สินเชื่อ แบบไหน ธนาคารใด โดนใจธุรกิจ SME