เชื่อว่าหลายคนคงจะมีความฝัน “อยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่ง” ซึ่งปัจจุบันมนุษย์เงินเดือนต่างก็สามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องรอเก็บเป็นเงินก้อนใหญ่ก็สามารถกู้เงินซื้อบ้านได้ จากผู้ที่มีฐานรายได้สูงอาจทำเรื่องกู้บ้านเพียงคนเดียวก็ผ่าน แต่ผู้ที่มีรายได้ไม่สูงเท่าใดนัก หรืออาจจะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นมาก ทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระค่าบ้านลดลง และหากยังต้องการซื้อบ้าน เพื่อให้สามารถกู้ผ่าน ทำให้ต้องหาผู้กู้ร่วม ซึ่งการกู้ร่วมนั้นมีประเด็นสำคัญๆ ที่ควรคำนึงหลายอย่าง
บุคคลที่สามารถทำการกู้ร่วมได้
ความหมายของการกู้ร่วมก็คือ การค้ำประกันอย่างหนึ่ง ซึ่งสถาบันการเงินสามารถนำรายได้ของผู้ค้ำประกันมารวมด้วยได้ซึ่งทางธนาคารเองก็จะมีเงื่อนไขของการกู้ร่วม ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดว่าผู้กู้ร่วมจะต้องมีสายโลหิตเดียวกัน หรือมีความ สัมพันธ์ทางเครือญาติ ส่วนบุคคลที่สามารถกู้ร่วมได้คือ สามี – ภรรยา หากเป็นกรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็สามารถใช้เอกสารอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายงานแต่ง การ์ดแต่ง หรือการมีบุตรร่วมกัน ,รวมถึงทะเบียนบ้านบุตร หรืออาจใช้ใบแจ้งเกิดบุตร, บิดา – มารดา,พี่น้องร่วมสายเลือดที่มีพ่อและแม่เดียวกัน ซึ่งแม้ว่าการกู้ร่วมจะเป็นทางออกที่จะช่วยให้การกู้เงินซื้อบ้านง่ายขึ้น และได้วงเงินกู้เพิ่มขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้กู้ร่วมก็ได้ ส่วนกรณีสมรสไม่จดทะเบียนก็แสดงหลักฐานได้ แต่กรณีผู้ที่เป็นแฟนกันเฉยๆ โดยทั่วไปมักจะกู้ร่วมไม่ได้
ผู้กู้ร่วมจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ให้กับผู้กู้หลักได้นั้น ก็ต่อเมื่อรายได้รวมของผู้กู้ร่วมและผู้กู้หลัก หลังจากที่หักภาระหนี้ของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว เหลือเพียงพอสำหรับค่าผ่อนบ้านตามหลักเกณฑ์ของธนาคาร โดยปกติภาระผ่อนทั้งหมดรวมค่าผ่อนบ้านจะต้องไม่เกิน 40-50% ของรายได้ ซึ่งธนาคารจะดูภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนจากเครดิตบูโร และหากปัจจุบันผู้กู้ร่วมมีภาระหนี้ผ่อนต่อเดือนสูงอยู่แล้ว ก็ถือว่าไม่ได้ช่วยให้ผู้กู้หลักมีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และหากจะหาผู้กู้ร่วมมาเพิ่มอีกหลายๆ คน ก็จะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ของธนาคารด้วย เพราะส่วนใหญ่ธนาคารมีข้อกำหนดสำหรับจำนวนผู้กู้ร่วม เช่น กู้ร่วมได้ไม่เกิน 2 คน
กรรมสิทธิ์ในบ้านเป็นของคนเดียว หรือ ผู้กู้ร่วม
ธนาคารอาจกำหนดจำนวนผู้กู้ร่วมไว้ คือสามารถกู้ร่วมได้ไม่เกิน 2 คน สำหรับการอนุมัติสินเชื่อบ้านของการกู้ร่วม ส่วนใหญ่จะพิจารณารายได้ของทุกคน และทำการหักภาระค่าใช้จ่ายของทุกคน แล้วมาดูว่ามีความสามารถที่จะสามารถผ่อนได้ต่อเดือนเท่าไรแล้วจึงจะทำการพิจารณาวงเงินสินเชื่อกู้บ้าน ในส่วนของกรณีของการกู้เดี่ยว เมื่อผ่อนชำระสินเชื่อบ้านหมดแล้ว กรรมสิทธ์ในบ้านหลังนั้นจะตกเป็นของผู้กู้ แต่สำหรับกรณีของการกู้ร่วม ซึ่งเป็นการกู้ร่วมซื้อบ้าน สามารถทำได้ 2 แบบ คือ การใส่ชื่อคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ว่าเวลากู้ยืมสามารถใช้ชื่อหลายคนมากู้ร่วมได้ และอีกแบบคือ การกู้ร่วมโดยใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคนเพื่อให้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วส่วนใหญ่ผู้กู้จะเลือกแบบที่สอง เพราะผู้กู้ทุกคนมีกรรมสิทธิ์ในบ้านร่วมกัน แต่การถือกรรมสิทธิ์ร่วม มักจะต้องมีเรื่องที่คำนึงก็คือ หากต้องการขายบ้านหรือ อสังหาฯ ที่ร่วมกันกู้นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคน แม้กระทั่งหากต้องการยกกรรมสิทธิ์ในบ้านให้เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อยู่ในชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ซึ่งทางกรมที่ดินจะถือว่า มีการซื้อขายบ้านหรืออสังหาริมทรัยพ์เกิดขึ้น ทำให้มีค่าธรรมเนียมต่างๆ อย่างการเสียค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รวมถึงค่าอากรแสตมป์ หรือแบบที่เป็นภาษีธุรกิจเฉพาะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากดอกเบี้ยจ่ายของการกู้ร่วม
ดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้บ้าน สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ว่าจะต้องสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีภาษีของดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้บ้านสามารถดูได้จากหนังสือรับรองดอกเบี้ยจ่ายที่สถาบันการเงิน ที่จะส่งมาให้ผู้กู้ตอนต้นปี ในกรณีของการกู้เดี่ยวและเกี่ยวกับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ซึ่งจากดอกเบี้ยบ้านดังกล่าวจะเป็นของผู้กู้เพียงผู้เดียว โดยจ่ายดอกเบี้ยทั้งปีเท่าไร ก็สามารถทำการลดหย่อนได้เท่านั้น แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับกรณีของการกู้ร่วม ให้จัดการหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ และกรณีกู้ร่วมสองคนก็คือหารครึ่งนั่นเอง
ข้อควรทราบเกี่ยวกับการใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยสำหรับการกู้ร่วมคือ สมมติว่ากู้ร่วมกันสองคน และหากทั้งปีจ่ายดอกเบี้ยไป 140,000 บาท ไม่ใช่ว่าคุณจะสามารถหารครึ่งแล้วใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีคนละ 70,000 บาท แต่เนื่องจากสัญญาเงินกู้บ้านนั้นจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เพียง 100,000 บาท ซึ่งก็คือ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท ซึ่งหากแต่ละฝ่ายยังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยไม่เต็มสิทธิ 100,000 บาท และหากมีดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาฯ อื่น อย่างอาจกู้ไว้เองหรือกู้ร่วมกับคนอื่น ก็ยังสามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมสูงสุด 50,000 บาท ซึ่งผู้กู้ร่วมทุกคนควรทำประกันคุ้มครองภาระหนี้สิน และหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นแก่ฝ่ายหนึ่งขึ้นมา การผ่อนบ้านจะได้ไม่เป็นภาระของอีกฝ่ายทั้งหมด
ข้อดีของการกู้ร่วม
การกู้ร่วมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติวงเงินกู้บ้าน เพราะจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือเป็นการเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ การกู้ร่วมนั้นอาจใช้ได้เฉพาะบางกรณี แต่ส่วนใหญ่จะต้องขึ้นอยู่ที่เงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงินกำหนด หลักการคือ ผู้เช่าซื้อหลัก และผู้ค้ำประกัน ซึ่งทางสถาบันการเงินจะมองรายได้ของผู้เช่าซื้อหลักเป็นหลัก และหากรายได้ผู้เช่าซื้อหลักนั้น ไม่ถึงตามเกณฑ์ตามสถาบันการเงินกำหนด ก็จะนำรายได้ของบุคคลที่มีคุณสมบัติในการกู้ร่วมได้
ข้อเสียของการกู้ร่วม
การกู้ร่วมถึงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้คุณกู้ซื้อบ้านผ่านได้ก็จริง แต่ก็ยังมีหลายๆ เรื่องที่ต้องคำถึงไม่ว่าจะเป็นภาระผ่อน ซึ่งหากต้องเป็นผู้รับภาระคนเดียวทั้งหมด หรือความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้าน ซึ่งผู้กู้ร่วมอาจจะขอเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย เพราะมีส่วนร่วมในภาระหนี้ก้อนนี้ด้วย และหากผู้กู้หลักอยากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียวก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้นั่นเอง หรือหากเกิดเป็นกรณีที่มีการตกลงเรื่องกู้ร่วม และตกลงชื่อว่าจะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ต้น แต่พอถึงเวลาจริงๆ อีกฝ่ายกลับไม่ยอมช่วยชำระ ซึ่งทำให้ผู้กู้หลักต้องหาเงินมาจ่ายเองทั้งหมดด้วยการแบกภาระหนี้ของการผ่อน แต่ชื่อในกรรมสิทธิ์กลับเป็นสองคน ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาทะเลาะกันอย่างแน่นอน ซึ่งคุณก็ควรจะศึกษาพฤติกรรมของอีกฝ่ายก่อนตัดสินใจกู้ร่วม