มาครั้งนี้มีวิธีการหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นอีกแบบหนึ่ง ที่ซับซ้อนและยุ่งยากกว่าการหาค่า PE Ratio หรือPBV นั่นก็คือ การหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น โดย วิธีคิดลดเงินปันผล หรือ Dividend Discounted Model (DDM) ซึ่งเป็นวิธีที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า เป็นการประเมินที่ใช้ข้อมูลรอบด้านมากที่สุดและมูลค่าหุ้นที่ได้จากการคำนวณมานั้นจะดูสมเหตุสมผลอยู่ไม่น้อย
เนื่องจากว่าการประเมินมูลค่าหุ้นโดย วิธีคิดลดเงินปันผล นั้น เป็นการนำเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับจากหุ้นตลอดช่วงเวลาที่เราเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ และราคาหุ้นที่คาดว่าจะขายได้มาคำนวณให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน โดยการใช้อัตราคิดลด (Discount Rate) เท่ากับอัตราผลตอบแทนที่ต้องการจากการลงทุนในหุ้นนั้น ซึ่งตัวเลขที่นำมาคำนวณนี้เป็นตัวเลขที่อยู่ในใจของนักวิเคราะห์แต่ละคน โดยอาจจะอาศัยข้อมูลย้อนหลังแล้วคาดการณ์ไปในอนาคต ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่างคนต่างคิด จึงบอกไม่ได้ว่าใครถูกใครผิด
อ่านเพิ่มเติม : วิธีลงทุน ในช่วงที่ตลาดผันผวน
ซึ่งตัวเลขที่ได้มานั้นเราก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะส่วนใหญ่นักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์แต่ละบริษัทก็มักจะมีตัวเลขเหล่านี้ออกมาแสดงให้เราเห็นอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ทำความเข้าใจและจะแปลความหมายของตัวเลขเหล่านี้ให้เป็นเท่านั้น ซึ่งเมื่อเรานำตัวเลขที่เป็นมูลค่าที่แท้จริง ที่ได้จากการคำนวณแบบคิดลดเงินปันผลไปเปรียบเทียบกับราคาหุ้น ณ วันที่เรากำลังจะซื้อ แล้วพบว่า มูลค่าหุ้นที่แท้จริงสูงกว่าราคาหุ้น ก็ถือได้ว่าเป็นหุ้นที่น่าซื้อมีราคาถูก แต่ถ้าเปรียบเทียบกันแล้วเจอว่า มูลค่าหุ้นที่แท้จริงต่ำกว่าราคาหุ้น นั่นก็หมายความว่าหุ้นตัวนั้นมีราคาแพงเกินไป ไม่น่าซื้อ แต่ถ้ามีหุ้นนี้อยู่ในมือ เราควรที่ขายออกไปมากกว่า
โดยหลักการง่ายๆ ของการคิดลดเงินปันผลแบบนี้ ก็คือ ให้เราลองนึกกันเล่นๆ ว่า ถ้าวันหนึ่งมีคนจะเอาเงินมาให้เรา 100 บาท แล้วให้เราเลือกรับว่าจะรับเงินในวันนี้เลย หรือจะรออีก 5 ปีแล้วค่อยมารับเงิน ซึ่งคำตอบที่แน่นอนก็คือ เราต้องการรับเงิน ณ วันนี้แน่ๆ มากกว่าที่จะไปรับเงินในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะเราก็คิดเองได้อีกว่าเงิน 100 บาทในอีก 5 ปีข้างหน้าอาจจะซื้อของได้น้อยกว่าวันนี้แน่นอน หรือจะยกตัวอย่างแบบง่ายๆ และเห็นภาพมากขึ้น เรายังจะจำได้หรือเปล่าว่า 5 ปีที่ผ่านมานี้เงิน 100 บาท เราสามารถซื้อข้าวกินได้ 3 มื้อ แถมยังเหลือเงินเก็บในแต่ละวันอีกต่างหาก แต่ทุกวันนี้เงิน 100 บาทแทบจะหมดไปในหนึ่งมื้ออาหารเลยก็ว่าได้ นั่นเป็นเพราะค่าเงินที่ลดลงและสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปด้วย
ซึ่งก็เป็นหลักการที่เอามาใช้คิดในฝั่งคนที่จะจ่ายเงินให้เราเหมือนกัน คือ จะคิดในทางกลับกันว่าถ้าเขาอยากให้เงินกับเราใน 5 ปีข้างหน้าด้วยจำนวนเงิน 100 บาท เขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินจำนวน 100 บาทในวันนี้ก็ได้ เพราะเขาจะคิดกลับกันว่าจะต้องลดจำนวนเงิน 100 บาทในวันนี้ให้เหลือจำนวนเงินเท่าไร เพื่อที่จะทำให้อีก 5 ปีข้างหน้าสามารถจ่ายเงินให้กับเราได้ 100 บาท โดยจำนวนเงินที่จะลดลงนั้นจะเป็นจำนวนเงินที่มากน้อยแค่ไหน ก็จะขึ้นอยู่กับว่าผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับใน 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร
อ่านแล้วยิ่งงง เรามาลองดูคำอธิบายที่เป็นตัวเลขกันดีกว่า โดยตัวเลขที่ได้นี้ก็ผ่านมาจากการคำนวณแบบคิดลดเงินปันผลตามสูตรทางการเงินที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องคำนวณเอง
- สมมติว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าเราอยากได้เงินปันผลจากหุ้นบวกกับราคาหุ้นที่จะขายได้เป็น 100 บาท
- ดังนั้นเราจึงต้องมาคิดว่าเราจะใช้เงินกี่บาทในวันนี้ที่จะทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นเป็น 100 บาท ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตัวเราอีกว่าอยากได้ผลตอบแทนจากหุ้นเป็นกี่เปอร์เซนต์
- ถ้าเราอยากได้ผลตอบแทน 4% มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตัวนี้ก็จะเท่ากับ 82 บาท แต่ถ้าต้องการผลตอบแทน 5% มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตัวนี้ไม่ควรเกิน 78 บาท
เพราะฉะนั้นเมื่อเทียบกับตัวเลขมูลค่าหุ้นที่แท้จริงจากตัวอย่างแล้ว ถ้าวันนี้หุ้นที่เราสนใจมีราคาอยู่ที่ 60-70 บาท ก็ถือได้ว่าเป็นราคาที่น่าซื้อ แต่ถ้ามากกว่า 80 บาทไปแล้วก็ถือว่าเป็นหุ้นที่น่าขายออกมากกว่าน่าซื้อ เพราะมีราคาแพงเกินไป ถ้ายังไงก็ลองเอาไปใช้ดูเผื่อว่าเราจะได้หุ้นที่มีราคาน่าซื้อกันบ้าง