หากใครที่ต้องการเป็นนักลงทุนระยะยาว คือ ลงทุนในหุ้นแล้วก็ต้องการรายได้ที่อยู่ในรูปของเงินปันผลทุกปีๆ ซึ่งเราจะมาลองดูคำแนะนำของ บล.เอเซีย พลัส ถึงแนวทางการกรองหาหุ้นปันผลดีๆ ในตลาดนั้น มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้เราได้หุ้นปันผลดีๆ สัก 2-3 ตัวเข้าพอร์ตของตัวเองกัน ซึ่งฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ของ บล.เอเซีย พลัส นั้นมีเงื่อนไขในการค้นหาหุ้นปันผลในตลาดทั้งหมด 5 เงื่อนไข จะเป็นอะไรบ้างมาดูกัน
เป็นหุ้นที่มีประวัติในการจ่ายเงินปันผลที่เป็นเงินสดต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 7 ปี
แต่ด้วยข้อจำกัดของข้อมูลที่เราจะหาได้จากบริการ SETSMART ของตลาดหลักทรัพย์นั้น เราอาจจะใช้ข้อมูลย้อนหลังแค่ 3-5 ปี ก็น่าจะพอไปไหวอยู่ เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่าบริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยสิ่งที่เราต้องดูก็คือ อัตราการจ่ายเงินปันผลที่จะต้องไม่น้อยกว่า 30% เพราะหุ้นที่จัดอยู่ในกลุ่ม Growth Stock นั้นจะไม่ได้นำผลกำไรทั้งหมดมาจ่ายเงินปันผล แต่จะจัดสรรส่วนหนึ่งไว้เพื่อใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกิจการของตัวเอง และส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนจะคาดหวังกำไรจากการขายหุ้นมากกว่าเงินปันผลจากหุ้นกุลุ่มนี้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินปันผลสูงๆ แต่ถ้าเป็นหุ้นที่ผ่านการลงทุนขนาดใหญ่มาแล้วหรือเป็นหุ้นที่กิจการคงที่แล้วอัตราการจ่ายเงินปันผลก็สามารถจ่ายได้มากกว่า 50% ก็มี
เป็นหุ้นของบริษัทที่มีมูลค่าการซื้อขายในตลาดไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องการซื้อขายในตลาดที่มากพอสมควร เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในกรณีที่เราอยากจะขายหุ้นแล้วขายไม่ออก หรืออาจจะขายได้ในราคาที่ไม่น่าพอใจก็เป็นได้ และอีกทางหนึ่งหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงนั้นยังเป็นตัวบอกได้อีกทางหนึ่งว่าเป็นหุ้นที่อาจจะอยู่ในกลุ่มผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นๆ ด้วย
หุ้นที่มีค่าเบต้าต่ำกว่า 1 เท่า
เพราะค่าเบต้าคือตัวที่ใช้สำหรับวัดค่าความผันผวนของหุ้นซึ่งจะเทียบกับ SET Index ซึ่งถ้าหากหุ้นที่มีค่าเบต้าสูงกว่า 1 แสดงว่าความผันผวนของหุ้นนั้นมีมากกว่าตลาด และในทางกลับกันหากหุ้นที่มีค่าเบต้าต่ำกว่า 1 แสดงว่าความผันผวนของหุ้นนั้นมีน้อยกว่าตลาด เช่น ถ้าหุ้นที่ถือยู่มีค่าเบต้าเท่ากับ 0.5% นั้นก็หมายความว่าถ้า SET Index มีการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้นที่เราถืออยู่ก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปเพียง 0.5% เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าจะเลือกหุ้นสักตัวแล้วต้องเลือกที่ค่าเบต้าน้อยกว่า 1% เสมอ
ควรเป็นหุ้นที่มีค่า Price to Earning (PER) ต่ำกว่า 12 เท่า
เพื่อจะช่วยให้เราเลือกหุ้นที่มีราคาซื้อไม่สูงจนเกินไป เพราะถ้าเป็นหุ้นที่ซื้อขายบนค่า PER ก็จะทำให้มีค่า Dividend Yield ที่ต่ำไปด้วย แล้วที่กำหนดไว้ที่ 12 เท่าก็เนื่องจากเป็นค่าเฉลี่ยที่คำนวณขึ้นมาและใช้กันโดยทั่วไป แต่เราก็สามารถที่จะปรับเปลี่ยนค่า PER ได้ตามระดับความเสี่ยงยอมรับกันได้ หากยอมรับความเสี่ยงได้มากค่า PER ก็อาจจะสูงกว่า 12 เท่าก็ แต่ถ้ายอมรับความเสี่ยงได้น้อยเราก็สามารถกำหนดค่า PER ให้ต่ำกว่า 12 เท่าก็ได้
และเงื่อนไขสุดท้ายที่ใช้สำหรับเลือกหุ้นก็คือ ต้องเป็นหุ้นให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) มากกว่า 5% ต่อปี
ที่ส่วนใหญ่จะกำหนดให้เป็นอัตราผลตอบแทนที่ควรจะได้รับ แต่ทั้งนี้แล้วก็อาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามความพอใจของนักลงทุนแต่ละคนก็เป็นได้ แต่ถ้าหากเราเลือกหาหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลมากกว่า 5% ก็อาจจะทำให้เรามีหุ้นมาเป็นตัวเลือกได้น้อยลง
ถ้ายังไงก็ลองไปหาโปรแกรม SETSMART ของตลาดหลักทรัพย์มาใช้กัน สำหรับหาหุ้นปันผลที่ตรงใจกันได้ แต่ลืมบอกไปว่า SETSMART นี้ต้องเสียเงินกันสักหน่อย ซึ่งมี 2 ราคา ถ้าราคา 390 บาท ก็จะเลือกดูข้อมูลหลักทรัพย์ย้อนหลังได้ 3 ปี แต่ถ้าราคา 590 บาท ก็จะได้ข้อมูลย้อนหลังถึง 5 ปี และทั้งสองแบบมีระยะเวลาการใช้งานได้ 3 เดือนเท่านั้น
ไว้คราวหน้าจะลองกรองหุ้นเพื่อหาหุ้นปันผลดีๆ ราคาไม่แพงมาฝากกันนะ