ไม่แน่ใจว่าจะมีใครที่เป็นเหมือนผู้เขียนหรือไม่ ที่เมื่อไปอ่านเจอกระทู้ที่นำพอร์ตการลงทุนมาแชร์ แบบเห็นตัวเลขกันจะจะไปเลยว่าลงอะไรบ้างแล้วได้กำไรหรือขาดทุนอย่างไร จะต้องรีบคลิกเข้าไปอ่านด้วยความสนใจทันทีค่ะ นักลงทุนในบ้านเรามีจำนวนไม่น้อยนะคะ แต่จะมีสักกี่คนที่กล้าเปิดพอร์ตลงทุนของตัวเองออกมาแชร์ให้คนอื่นได้เห็นกัน ดังนั้นเมื่อมีคนมาแชร์แบบนี้ไม่ว่าจะเป็นกำไรหรือขาดทุน ก็จึงน่าสนใจทั้งนั้น
ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่แอบดีใจที่มีคนเอาพอร์ตมาเปิดแชร์ให้เห็นตัวเลขกำไรขาดทุนกันอีกแล้ว เป็นกระทู้นี้ค่ะ https://pantip.com/topic/36628216 เจ้าของกระทู้เปิดพอร์ตแสดงผลกำไรขาดทุนจากการลงทุนในหุ้น โดยเป็นการลงทุนในลักษณะของการออมหุ้น คือ DCA ทุกเดือนนั่นเอง โดย จขกท ก็ได้ออกตัวไว้ก่อนเลยว่า แนวทางการลงทุนด้วยการออมหุ้นแบบ DCA นี้ ไม่ได้หวังผลตอบแทนในระยะสั้นเหมือนกับการเล่นเดย์เทรด แต่เป็นการลงทุนที่หวังผลตอบแทนในระยะยาว 5-10 ปีขึ้นไป หากมีการคัดเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะทำกำไรเฉลี่ยได้ถึง 10% ต่อปีทีเดียว
จขกท มีพอร์ตลงทุนออมหุ้นอยู่ 3 พอร์ต คือ พอร์ตที่ซื้อทุกวันที่ 5, 15 และ 25 ของเดือน เราลองไปดูผลกำไรจากการลงทุนของ จขกท กันค่ะ
- พอร์ตแรกลงทุนทุกวันที่ 5 ของเดือน
- พอร์ตที่ลงทุนทุกวันที่ 15 ของเดือน
- พอร์ตที่ลงทุนทุกวันที่ 25 ของเดือน
เปิดให้เห็นตัวเลขแบบจะจะกันจริง ๆ ค่ะ เห็นแบบนี้แล้วสะใจไปเลย เท่าที่ดูจากทัง 3 พอร์ตออมหุ้นของ จขกท มีข้อสังเกตดังนี้คือ
- หุ้นที่ จขกท เลือกออมเข้าพอร์ตออมหุ้นนั้น เป็นหุ้นพื้นฐานดี มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น AOT, BDMS, BEM, BH, BTS, CPALL, CPN, MINT, SCC
- แม้ว่าจะเป็นโปรแกรมการออมหุ้นแบบอัตโนมัติ แต่ จขกท ก็มีการเฝ้าดูพอร์ตเป็นประจำ เมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมาก็ได้มีการสั่งให้หยุดซื้อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล คือ BDMS และ BH เนื่องจากเห็นว่ามีการเติบโตที่ลดลงและแนวโน้มน่าจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อเนื่องไปอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี จึงชะลอการซื้อเพิ่มไว้ก่อน แต่หุ้นในพอร์ตที่ซื้อมาก่อนหน้านี้ก็ปล่อยทิ้งไว้ โดยถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมายังเห็นกำไร แต่เมื่อมาถึงช่วงเดือนมิถุนายน 2560 หุ้นแสดงผลขาดทุนเป็นตัวแดงให้เห็นแล้ว
- จขกท แบ่งช่วงเวลาดูผลกำไรขาดทุนออกเป็น 3 ช่วง ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พอร์ตหุ้นเดิมอาจมีสถานะกำไรหรือขาดทุนในระยะสั้น ๆ เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือนที่เปลี่ยนแปลงไปได้ จากความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นที่มาที่ จขกท เกริ่นไว้ตั้งแต่แรกเรื่องที่ว่าการออมหุ้นเหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาวเท่านั้น
- ในช่วงที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 พอร์ตหุ้นพื้นฐานดีก็แสดงผลกำไรให้เห็นออกมาทันที จากทั้ง 3 พอร์ตรวมกัน แสดงตัวเลขกำไรสูงถึง 859,771.87 บาท โดยหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 3 อันดับแรก ก็เป็น AOT, CPN และ CPALL นั่นเอง
เห็นพอร์ต จขกท แล้วก็อยากจะไปเปิดพอร์ต DCA เพิ่มทันทีกันเลยว่าไหมคะ แต่อย่างที่ จขกท เกริ่นไว้ ว่าการลงทุนออมหุ้นแบบ DCA นี้เหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาวเท่านั้น ใจนักลงทุนจึงต้องแข็งพอ เงินต้องเย็นพอด้วยที่จะทิ้งไว้ในพอร์ตลงทุนได้นาน ที่สำคัญแม้ว่าจะออมหุ้นโดยมีการคัดเลือกหุ้นไว้ล่วงหน้าแล้วก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าทิ้งให้ระบบทำงานไปเรื่อย ๆ โดยไม่ดูดำดูดี เพราะหุ้นที่เคยเติบโตดี วันหนึ่งสถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไป เราจึงจำเป็นต้องคอยมอนิเตอร์พอร์ตลงทุนของเราอยู่เสมอ อย่างที่ จขกท ชะลอการซื้อหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลเพิ่มไปก่อนนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม : ใครๆก็ ออมเงินในหุ้น กันแล้ว รู้ยัง ?
สุดท้ายเป็นเรื่องที่ จขกท มาแชร์ว่าปัจจุบันนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ได้มีการเพิ่มโปรแกรมออมหุ้นรายเดือน DCA เป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา โบรกเกอร์หลายเจ้าก็เลยจัดเพิ่มโปรแกรม DCA นี้ในระบบ เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อ DCA ได้เอง เช่น บัวหลวง กสิกรไทย ทิสโก้ เป็นต้น นักลงทุนจึงมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในการ DCA หุ้น จากเดิมที่จะมีแค่ บล. ซีไอเอ็มบี และ บล. ฟิลลิป เปิดให้บริการออมหุ้นอยู่เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดและเงื่อนไขในการออมหุ้นผ่านโปรแกรมของตลาดหลักทรัพย์กับแบบเดิม มีข้อแตกต่างกันอยู่เหมือนกัน ดังนี้
- การออมหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์จะเลือกออมได้แค่บัญชีละ 5 หุ้นเท่านั้น แต่สามารถเลือกหุ้นที่อยู่ใน SET100 ได้ทุกตัว และเลือกเปลี่ยนหุ้นที่จะออมและจำนวนเงินได้เองผ่านทางโปรแกรม Streaming
- สามารถเลือกวันที่จะซื้อได้เอง ทุกวันที่ 1, 5, 15 และ 25 ของแต่ละเดือน โดยสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ราคาเปิดตลาดรอบเช้าหรือราคาเปิดรอบบ่าย (ถ้าเป็นการออมหุ้นกับซีไอเอ็มบีหรือฟิลลิปจะใช้ราคาเปิดช่วงเช้าเท่านั้น)
- ต้องซื้อหุ้นแบบครบล็อต คือ อย่างต่ำครั้งละ 100 หุ้น (ถ้าเป็นการออมหุ้นกับซีไอเอ็มบีหรือฟิลลิป สามารถซื้อกี่หุ้นก็ได้)
- สามารถสั่งซื้อขายเองได้โดยตรง เช่น กรณีที่วันใดหุ้นราคาลงมามาก อยากช้อนซื้อเก็บไว้ หรืออยากขายบางตัวออกไป เป็นต้น
ไว้มีโอกาสจะเขียนเรื่องการออมหุ้นผ่านทางโปรแกรม Streaming ของตลาดหลักทรัพย์แบบละเอียดอีกครั้งนะคะ
มีแต่คนเข้ามากดไลค์และแสดงความเห็นถูกใจกันใหญ่เลยค่ะ สำหรับกระทู้แชร์ประสบการณ์การออมหุ้นในครั้งนี้ของ จขกท พอได้อ่านก็เหมือนกับเป็นการกระตุ้นให้กลับมาคิดเรื่องลงทุนอีกครั้ง หรือหากใครที่เริ่มลงทุนแล้วก็ถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมามอนิเตอร์พอร์ตหุ้นของเราบ้างว่ามีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้พอร์ตลงทุนของเราทำงานได้ตามเป้าหมายที่เราวางไว้ค่ะ