โดยธรรมชาติคนเราเกิดมาย่อมต้องมีคู่ เพื่อสืบต่อวงศ์สกุลและดำรงเผ่าพันธุ์ เมื่อเลือกคู่ที่จะครองชีวิตร่วมกันได้แล้ว ก็ถึงคราวที่ประกาศให้โลกรับรู้และเป็นสักขีพยานว่า เราจะสละโสด ไม่อยู่โดดเดี่ยวเดียวดายอีกต่อไปแล้ว ประเพณีในการประกาศนี้คือ การแต่งงาน คนทั่วโลกมีการจัดพิธีแต่งงานด้วยรูปแบบแตกต่างกันไป และส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือเรื่องของเงินทอง
เงินที่ใช้ในการแต่งงานแบบวิถีคนไทยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
- ส่วนแรกคือ เงินสินสอด
- ส่วนที่สองคือ เงินที่ใช้จ่ายเกี่ยวกับงานเลี้ยง
เงินทั้ง 2 ส่วนรวมกันจะเรียกว่ามากมายหรือน้อยนิด นั้นขึ้นกับฐานะของคู่แต่งงานนั้น ถ้าเป็นคนรวย ค่าสินสอดทองหมั้นและจัดเลี้ยงคงไม่ได้มากมายอะไร แต่ถ้าหนุ่มสาวคู่นั้นไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง เรื่องของค่าใช้จ่ายในการแต่งงานนับว่าเป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียว นอกจากเรื่องเงินแล้ว การแต่งงานยังโยงไปถึงบุคคลอีกหลายฝ่าย และมีเรื่องของจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นอันมาก จนบางครั้งหนุ่มสาวถอดใจเลิกล้มการแต่งงานไปเสียดื้อๆ เพราะความเรื่องมาก มากเรื่องของทั้งบุคคลพิธีการ
ในบทความนี้ขอเสนอแนวทางในการจัดการเรื่องเงินสำหรับคนที่ไม่ได้มีเงินทองมากมาย แต่ก็อยากจัดงานแต่งงานให้ได้ดีเป็นไปตามประเพณี
โดยขอแบ่งเงินเป็น 2 ส่วนคือ ค่าสินสอดและค่าใช้จ่ายในงานพิธี และบทความนี้ขอกล่าวถึงเรื่องเงินค่าสินสอดเพียงอย่างเดียว
เงินค่าสินสอดนั้นเป็นเรื่องของจิตใจและผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงอยากใช้เงินสินสอดเป็นหลักประกันและทดสอบว่า ฝ่ายชายจะมีปัญญาหาเลี้ยงลูกสาวของตนได้หรือไม่ หากเรียกเงินไปเยอะและฝ่ายชายตอบสนองได้ ก็ทำให้ฝ่ายหญิงเบาใจว่า ฝ่ายชายมีศักยภาพมากพอในการที่จะเลี้ยงดู อุ้มชูลูกสาวของตน กรณีที่ฝ่ายชายเป็นคนมีฐานะดี เรื่องนี้คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าบ้านของฝ่ายชายไม่ได้ร่ำรวย ฐานะพอกินพอใช้ ไม่มีปัญญาไปหาค่าสินสอดแพงๆ จะทำอย่างไรดี ถ้าถึงขั้นต้องกู้หนี้ยืมสินเขามาคงไม่ใช่วิธีที่ฉลาดทางการเงินเป็นแน่ แนวทางแก้ปัญหาที่ถูกที่ควรคือ ต้องเปิดใจ ต้องเปิดเผยถึงฐานะการเงินที่แท้จริงทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ต่างก็เคยผ่านวัยเริ่มสร้างครอบครัวมาแล้ว คงรู้ดีว่า โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ จะเอาให้ได้ดังใจทุกอย่างคงเป็นไปไม่ได้ งานแต่งงานของลูกจัดเพื่อประกาศให้สังคมรับรู้ว่า เขาทั้งสองจะร่วมห้องเคียงคู่กัน ไม่ใช่เป็นการประกาศความมีหน้ามีตาของพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ จะเรียกร้องอะไร ขอให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และเป็นไปได้ โดยเฉพาะความเป็นไปได้ด้านการเงิน ที่ต้องไม่เกินเลยจนถึงขั้นต้องเป็นหนี้ เพราะสุดท้ายแล้วภาระนั้นจะตกอยู่กับลูกหลานของเราเอง
ในส่วนตัวคู่บ่าวสาวต้องมองให้ลึกซึ้งและเข้าใจถึงความต้องการและเหตุผลของผู้ใหญ่ ว่าการเรียกร้องนั้น เขาอยากให้เป็นหลักประกันกับลูกๆ หรือเรียกร้องเพื่อเอาหน้า หากพ่อแม่เป็นห่วงลูกจริงและต้องการเรียกสินสอดแพง เพื่อทดสอบฝ่ายชาย ก็ต้องคุยกันแต่เนิ่นๆและให้เวลาฝ่ายชายในการหาเงินและเตรียมตัว เพราะถ้าฉุกละหุกเกิน คงไม่มีใครหาเงินทันแน่ๆ ในส่วนของฝ่ายชายถ้าไม่มีเงินจริงๆ เราจะมีอะไรมาแสดงให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงมั่นใจหรือสบายใจได้บ้าง เช่น หน้าที่การงาน ความตั้งใจ แผนการงานและแผนการเงินในอนาคต เป็นต้น แต่หากอีกฝ่ายไม่ยอม ขอเป็นเงินอย่างเดียว ก็คงต้องทำใจ หวังจะพาลูกสาวเขาหนีไปเฉยๆ คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก คงต้องชะลอทุกอย่างออกไปก่อน แล้วหวังว่ากาลเวลาจะช่วยให้ผู้ใหญ่เปลี่ยนใจเปลี่ยนความคิด และการขยายเวลาออกไป อาจทำให้เรามีโอกาสสะสมเงินก้อนใหญ่หรือไปทำอาชีพเสริม หาเงินมาเป็นค่าสินสอดเพิ่มได้
อ่านเพิ่มเติม :จะแต่งงานแล้ว เรียกสินสอดเท่าไรดี ?