มองไปที่แผงหนังสือร้านดัง ตอนนี้มีแต่หนังสือเกี่ยวกับการเล่นหุ้นเต็มไปหมด รวมทั้งในเว็บไซต์ ในfacebook ตามกลุ่มเพื่อนๆใน LINE ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับหุ้นให้คุยกัน ตามสื่อก็สัมภาษณ์หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ที่ร่ำรวยจากการเล่นหุ้น เห็นแล้วช่างน่าเคลิ้ม อยากไปลองเล่นหุ้นกับเขาบ้าง ที่ฝันเฟื่องไปยิ่งกว่านั้นคือ มีคนอยากลาออกจากงานประจำ หันมาเล่นหุ้นเป็นอาชีพ แต่อีกมุมหนึ่งก็มีข่าวเกี่ยวกับบุคคลล้มละลายเสียหายจากจากการเล่นหุ้นด้วยเหมือนกัน ทำให้ชักไม่แน่ใจว่าจะเล่นหุ้นดีหรือเปล่า เมื่อเกิดอาการลังเลใจ คงต้องหาคำตอบด้วยการลงมือทำด้วยตนเอง
เริ่มจากคนที่ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหุ้นเลย เพียงแต่ได้ยินจากข่าว จากสื่อ หรือจากเพื่อนฝูงว่าเล่นหุ้นอยู่ เราอยากลองเล่นดูบ้าง ความรู้เกี่ยวกับหุ้นเป็นศูนย์ ให้เริ่มต้นด้วยการไปสมัครขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเรียกง่ายๆว่าไปเปิดบัญชีซื้อขายหุ้น เราเคยได้ยินว่ามีคนเล่นหุ้น ลงทุนในหุ้น เข้าตลาดหุ้น แต่ไม่รู้ว่าเขาไปเล่นกันที่ไหน ไปซื้อขายหุ้นกันที่ไหน คำตอบคือ ซื้อขายกันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีคำถามตามมาว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ที่ไหนล่ะ อาคารตลาดหลักทรัพย์ตั้งอยู่ที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เลขที่ 93 ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร แต่ตอนซื้อขายหุ้นเราไม่ต้องเดินทางไปซื้อที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราจะต้องซื้อขายผ่านบริษัทตัวแทนหรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า โบรกเกอร์นั่นเอง บริษัทนายหน้านี้ต้องเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาติและแต่งตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น ปัจจุบันมีอยู่ 39 บริษัท สามารถหาดูได้ที่เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติม : ทำความรู้จักกับเครื่องหมายซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ
เมื่อเลือกบริษัทหลักทรัพย์ที่เราจะใช้เป็นตัวแทนในการซื้อขายหุ้นได้แล้ว ขั้นต่อไปคือ ไปบอกเขาว่า เราจะมาขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ จากนั้นบริษัทจะให้ เจ้าหน้าที่หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มาร์เก็ตติ้งโทรคุยกับเราหรือมาพบเรา เพื่อให้เตรียมเอกสารเปิดบัญชี ในขั้นตอนเปิดบัญชีไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่จะมีเอกสารให้อ่านหลายสิบหน้า เป็นข้อตกลงและเงื่อนไขสัญญาต่างๆ เมื่อเจ้าหน้านำมาให้ก็ลองอ่าน ตรงไหนไม่เข้าใจก็ถามเจ้าหน้าที่ สิ่งที่ต้องเลือกคือ ประเภทบัญชีสำหรับซื้อขายหุ้นมี 3 แบบ คือ
1.แบบวางเงินเต็มจำนวน
คือถ้าเราจะซื้อหุ้นด้วยจำนวนเงินเท่าไหร่ เราต้องนำเข้าเข้าไปฝากในบัญชีหลักทรัพย์เต็มจำนวน หรือมากกว่าก็ได้ ถ้าเราคิดว่าจะซื้อหลายๆครั้ง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาโอนเงินเข้าไปบ่อยๆ สำหรับคนที่ยังไม่มีความรู้อะไรเลย ขอให้เลือกบัญชีประเภทนี้ เพราะเราตั้งใจจะมาลองเล่นดู เล่นไปหาความรู้ไป ใช้เงินจำนวนน้อยๆในการเข้าไปเล่น เพราะถ้าเกิดความเสียหายจะได้ไม่มาก
2.แบบวางเงินประกัน 15 เปอร์เซ็นต์
คือ ถ้าเราจะซื้อหุ้น 100 บาท เราต้องมีเงินฝากหรือมีหลักทรัพย์มูลค่า 15 บาท วางเป็นหลักประกัน จากนั้นอีก 3 วันเราจะต้องชำระค่าซื้อเต็มจำนวน แบบนี้มีความเสี่ยงอยู่บ้างตรงที่ ถ้าถึงกำหนดเวลาชำระแล้วเราไม่มีเงินจ่าย ก็จะโดนค่าปรับหรือถูกโบรกเกอร์บังคับขายหุ้นทิ้ง
3.แบบเงินกู้จากโบรกเกอร์
คือเมื่อเราวางเงิน 100 เปอร์เซ็นต์ โบรกเกอร์จะให้วงเงินกู้แก่เราอีก 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้สามารถซื้อขายได้มากขึ้น เช่น เราวางเงินไว้ 10000 บาท แต่สามารถซื้อหุ้นได้ถึง 20000 บาท บัญชีแบบนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บัญชีมาร์จิ้น ซึ่งยังไม่เหมาะกับนักเล่นหุ้นมือใหม่ เพราะถ้าซื้อแล้วขาดทุนมากๆ หรือซื้อแล้วหุ้นลงแรงมากๆ โบรกเกอร์สามารถเรียกให้เรานำเงินไปวางเพิ่ม ถ้าไม่สามารถวางเงินเพิ่มได้ โบรกเกอร์มีสิทธิบังคับขายหุ้นเราทิ้งได้ทุกราคา แม้ว่าเราจะขาดทุนอยู่มากก็ตาม
สำหรับคนที่สนใจเล่นหุ้น ไม่ต้องลังเล ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร จะกำไรหรือมีความเสี่ยงมากไหม ให้ไปเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ได้เลย ตอนเปิดให้เลือกเปิดบัญชีประเภทที่1 คือแบบวางเงิน 100 เปอร์เซ็นต์ และฝากเงินเข้าไปเล่นครั้งละน้อยๆ เพื่อศึกษาหาความรู้ก่อน เมื่อเราได้เข้าสู่ระบบซื้อขายแล้ว ก็สามารถเรียนรู้เรื่องราวการลงทุนในหุ้นได้จากข้อมูลที่โบรกเกอร์มีให้อยู่แล้ว พอเราเริ่มรู้ ความรู้ก็จะแตกแขนงในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น จากนั้นค่อยมาลงลึกว่า เราอยากเป็นนักเล่นหุ้นแบบไหน แบบเก็งกำไร หรือลงทุนในพื้นฐาน ก็ค่อยมาเลือกกันอีกทีก็ยังไม่สาย ไม่ต้องรีบเล่น ไม่ต้องรีบรวย การเล่นหุ้นให้รวยไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่จะรวยได้ทุกคน