น่าจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ แหล่งขุมทรัพย์ของเราในยามเกษียณ ดังนั้นวันนี้เราก็น่าที่จะมาสนใจและวางแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเรากันดีกว่า ว่าทำยังไงที่จะให้เงินยามเกษียณของเรามีอย่างเพียงพอ
เรามาทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันก่อน
ว่าเป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น และร่วมกันเก็บออมเงินให้ลูกจ้างไว้ใช้หลังจากเกษียณอายุแล้ว ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นสวัสดิการตัวหนึ่งที่นายจ้างมีให้ลูกจ้าง เพราะบางบริษัทก็ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งไม่มีกฎหมายมาบังคับให้นายจ้างทุกรายต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้าง ดังนั้นหากใครที่ได้อยู่ในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วล่ะก็ถือได้ว่าโชคดีอย่างหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งส่วนประกอบของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะมาจากการหักเงินเดือนของเราทุกเดือน รวมกับเงินที่นายจ้างจ่ายเพิ่มให้ และจะนำเงินทั้งสองส่วนนี้ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทน และเมื่อเราลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินทั้งสามส่วนนี้ก็จะเป็นเงินของเราทั้งหมด แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุนด้วยว่าจะจ่ายให้กับลูกจ้างแบบไหนกันบ้าง
อ่านเพิ่มเติม : พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปรับปรุงใหม่ มีอะไรบ้าง
ดังนั้นเมื่อบริษัทที่เราอยู่มี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาเป็นสวัสดิการให้กับเราแล้ว เราก็ควรที่จะศึกษาถึงข้อบังคับและนโยบายการลงทุนของกองทุน เพื่อที่เราจะได้รับประโยชน์ให้เต็มที่จากการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อันดับแรกเลยเราจะต้องศึกษาว่าเราสามารถเลือกหักเงินเดือนของเราเพื่อเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงได้เท่าไรและบริษัทจะสมทบให้เราได้เท่าไร ซึ่งสิ่งที่เราควรทำ คือ ให้เลือกหักเงินเดือนของเราเข้ากองทุนด้วยอัตราสูงสุดที่ข้อบังคับกำหนด เพราะถือว่าเราจะได้ไม่ต้องมีเงินเหลือมาใช้มากจนเกินไป
และเมื่อแบ่งเงินเดือนในแต่ละเดือนไปเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ ศึกษาเรื่องสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การศึกษานโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะแต่เดิมเราในฐานะลูกค้าไม่ค่อยมีสิทธิที่จะได้เลือกนโยบายการลงทุนให้กับเงินของเราเองสักเท่าไร เพราะทางเลือกในการลงทุนต่างๆ นายจ้างจะเป็นผู้เลือกมาให้เราเรียบร้อย ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ได้ให้สิทธิกับลูกจ้างหรือสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในการเลือกนโยบายการลงทุน หรือจะเรียกว่า Employee’s Choice ให้เหมาะสมกับอายุ ผลตอบแทนที่ต้องการ และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เราได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น
ซึ่งสัดส่วนในการลงทุนนั้นเราอาจจะแบ่งการลงทุนส่วนตัวของเราตามระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ ซึ่งบางคนมองว่า ณ วันที่เริ่มทำงานยังไม่มีภาระอะไรมากมาย
- เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่ที่มีประมาณ 70-80% จึงเลือกที่จะลงทุนในตราสารทุน
- ส่วนที่เหลืออีก 20-30% ก็ไปลงทุนในตราสารหนี้ เพราะการลงทุนในตราสารทุนจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้
และเมื่อช่วงอายุเปลี่ยนไปการระดับความเสี่ยงที่ตัวเรายอมรับก็อาจจะเปลี่ยนไป จำนวนเงินออมที่มีอยู่ก็อยากให้อยู่อย่างปลอดภัยไม่อยากเสี่ยงแล้ว
- เราก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นลงทุนในตราสารทุนเพียง 10-20%
- และย้ายเงินมาลงทุนในตราสารหนี้แทนเป็น 80-90%
เราก็สามารถทำได้ เพียงแต่เราต้องศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เข้าใจเท่านั้นเอง
และนอกจากเรื่องการแบ่งเงินเดือนของเราไปออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว อีกเรื่องที่เราก็ควรจะต้องรู้ คือ เมื่อถึงวันที่เราต้องนำเงินออกจากกองทุน เราจะเลือกทำอะไรได้บ้างเมื่อเราลาออกจากงานหรือลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แบบแรก คือ นำเงินออกมาทั้งหมดซึ่งแบบนี้ก็จะมีเงื่อนไขในการคิดภาษีเพิ่มขึ้นมาอีกตามอายุการเป็สมาชิกกองทุน
แบบที่สอง คือ การคงเงินไว้ในกองทุนเดิมก่อนตามเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด และแบบสุดท้ายเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ออกจากกองทุนเมื่อมีอายุ 55 ปีขึ้นไป สามารถโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลงทุนในกองทุนรวม RMF ได้ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่เพิ่มขึ้นมาตามกฎหมายใหม่ ที่ให้ผู้เกษียณอายุสามารถนำเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงไปลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง
เห็นหรือเปล่าว่าขุมทรัพย์ในอนาคตของเรามีทางเลือกและประโยชน์มากมาย ถ้าเราได้อยู่ในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แล้วล่ะก็ อย่าลืมที่จะศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับตัวเรามากที่สุด