โดยทั่วไปแล้วผู้ที่อยากจะซื้อบ้านนั้นมักจะไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะชำระค่าบ้าน ดังนั้นเมื่อได้ตัดสินใจซื้อบ้านโดย ชำระเงินดาวน์ ประมาณ 20 – 30% ของราคาแล้ว เงินก้อนใหญ่ที่เหลือประมาณอีก 70 – 80% ที่จะจ่ายให้ กับเจ้าของโครงการหรือผู้ขายนั้น ผู้ซื้อก็จะต้องไป ขอสินเชื่อบ้าน จากสถาบันการเงิน
เลือกสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อบ้าน
สถาบันการเงินที่จะให้คุณกู้เพื่อซื้อบ้านมีจำนวนมากมายหลายสถาบัน เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ฯลฯ บริษัทเงินทุน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการเงินเหล่านี้ ต่างก็แข่งขันกันในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชน ประเด็นคือ ผู้ขอกู้ควรจะกู้ที่ไหนดี ที่จะช่วยให้เกิดการประหยัดเงินมากที่สุด และได้รับความสะดวกสบายที่สุด ทั้งมีเงื่อนไขที่สอดคล้องกับความต้องการมากที่สุดด้วย
โดยส่วนใหญ่แล้วสถาบันการเงินมักจะเปิดโอกาสให้ผู้ขอสินเชื่อบ้านสามารถชำระเงินงวดเพิ่มสูงกว่าปกติได้ ซึ่งเงินที่ชำระเกินนั้น ก็จะไปตัดหนี้ยอดเงินต้นลง ซึ่งจะส่งผลให้หนี้เงินกู้หมดเร็วขึ้นกว่าที่กำหนดในสัญญา อย่างไรก็ตามกรณีกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ โดยทั่วไปแล้ว สถาบันการเงินมักจะกำหนดให้ชำระเท่ากันทุกเดือน การให้บริการของสถาบันการเงิน ในการเลือกกู้กับสถาบันการเงินใด นอกจากปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขต่างๆแล้ว ผู้กู้อาจจะพิจารณาปัจจัยด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น
- ความสะดวกในการยื่นกู้ ได้แก่ ผู้กู้สามารถเดินทางยื่นกู้ยังสถาบันการเงิน ได้อย่างสะดวก ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
- ความรวดเร็วในการอนุมัติกู้ ได้แก่ ผู้กู้สามารถทราบผลในการยื่นกู้ หรือได้รับเงินกู้ได้รวดเร็วตามที่ต้องการ เช่น ภายในสองสัปดาห์ หรือได้เร็วกว่านั้น
- ความสะดวกในการชำระหนี้เงินกู้ เช่น ผู้กู้สามารถชำระหนี้ผ่านบัญชีของสาขาธนาคารต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง
- การต้อนรับและการให้บริการที่ดีของพนักงาน เช่น การต้อนรับและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของพนักงาน ความมีอัธยาศัยไมตรีที่ดี และการให้บริการต่าง ๆ อย่างเต็มใจ รวดเร็วและเป็นที่ประทับใจ
- การให้ความรู้และการให้คำปรึกษาแนะนำดี เช่น การให้ความรู้ความเข้าใจ และคำแนะเกี่ยวกับการขอสินเชื่อบ้านในด้านต่าง ๆ อย่าง จริงใจ และเป็นมิตร
- ชื่อเสียง ภาพพจน์ และความมั่นคงของธนาคาร ได้แก่ การมีภาพพจน์ที่ดี ความมีชื่อเสียงมายาวนานในการให้บริการ และความมั่นคงของธนาคาร
การยื่นขอสินเชื่อบ้าน
ต้องนำหลักฐานต่าง ๆ ต่อไปนี้โดยต้องมีครบถ้วน
- หลักฐานประจำตัว
ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนสมรส หรือถ้าหากมีการหย่าร้างก็ต้องมีใบทะเบียนหย่าด้วย และสำเนาเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี)
- หลักฐานเกี่ยวกับรายได้
สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำใช้หลักฐานดังนี้
- ใบรับรองเงินเดือน หรือหลักฐานการรับ/จ่ายเงินเดือนจากนายจ้าง
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระใช้หลักฐานดังนี้
- สำเนาทะเบียนการค้า หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
- บัญชีเงินฝาก พร้อม statement
- บัญชีเงินฝากกระแสรายวันย้อนหลัง 6 เดือน
- หลักฐานรายได้หรือทรัพย์สินอื่นๆ
- หลักฐานเกี่ยวกับหลักทรัพย์และการซื้อขาย
1. สำเนาใบโฉนดที่ดินหรือสำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด
2. แผนที่แสดงทำเลที่ตั้งของที่ดินหลักประกัน
3. สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญามัดจำ
4. ถ้าหากเป็นการซื้อห้องชุด ต้องมีสำเนาหนังสือสำคัญการจดทะเบียนอาคารชุด
และรายละเอียดทรัพย์ส่วนบุคคล และทรัพย์ส่วนกลาง
- หลักฐานอื่นๆ
กรณีขอสินเชื่อบ้านเพื่อการปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคาร หลักฐานที่ต้องมีได้แก่
- แบบก่อสร้างอาคาร
- หนังสืออนุญาตปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคาร
- หนังสือสัญญาจ้างปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคาร
อ่านเพิ่มเติม : พร้อมแค่ไหน ? ถ้าจะ ขอสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย