การวางแผนการเงิน สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ควรเริ่มมีการวางแผนกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับครอบครัว เมื่อเริ่มมีเงินเก็บมาได้สักระยะ ย่อมอยากที่จะ “ซื้อบ้าน” การซื้อบ้านเป็นการสร้างหนี้ในระยะยาว ดังนั้น คุณจำเป็นต้องรู้ ทำความเข้าใจในเงื่อนไข และรู้จักวางแผนการผ่อนบ้านให้ดี เพื่อป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินในอนาคตได้
บทความของเราวันนี้ ขอพูดถึงเคล็ดลับการวางแผนผ่อนบ้านแบบสบาย ๆ ฉบับมนุษย์เงินเดือน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่มีรายได้ประจำสามารถวางแผน และบริหารเงินในการผ่อนบ้านได้ทันเวลาและครบถ้วน ซึ่งความตรงต่อเวลาเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการผ่อนบ้าน หากคุณไม่สามารถชำระเงินผ่อนบ้านได้ตรงตามเวลาที่กำหนด อาจจะทำให้คุณเสียดอกเบี้ยแบบทวีคูณก็ได้
อ่านเพิ่มเติม : แนะนำ โปรแกรมคำนวณค่าผ่อนบ้านฉบับ Excel
วางแผนผ่อนบ้าน ฉบับมนุษย์เงินเดือน
-
การประเมิน และประมาณการเงินที่ต้องผ่อน
เมื่อคุณเริ่มคิดที่จะมีบ้านสักหลัง ควรเริ่มด้วยการประเมินความพร้อมทางการเงินของตนเองเสียก่อน โดยต้องเริ่มออมเงิน เพื่อเตรียมไว้ดาวน์ 10 – 15% ของราคาบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักเกินไปในการผ่อนสินเชื่อกับธนาคารในแต่ละงวด โดยทั่วไปธนาคารจะให้วงเงินกู้ประมาณ 80 – 90% ของมูลค่าบ้าน
แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับอาชีพ และประวัติทางการเงิน ธนาคารมักจะอนุมัติเงินที่ต้องผ่อนต่องวดประมาณ 30 – 40% ของรายได้ของผู้กู้ อย่างเช่น มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน คุณจะสามารถผ่อนบ้านได้ประมาณ 9,000 – 12,000 บาท ต่อเดือน
-
เข้าใจเรื่องรูปแบบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อบ้าน
รูปแบบอัตราดอกเบี้ยจะมีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ แบบคงที่ และแบบลอยตัว
- อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate) เป็นดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนดแน่นอน ส่วนมากธนาคารจะเสนอแบบคงที่ระยะเวลา 1 – 3 ปี
- อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่จะประกาศออกมา เนื่องจากต้นทุนของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน และยังต่างกันในแต่ละช่วงเวลานั่นเอง ส่วนใหญ่ที่คุณจะเจอก็จะเป็น MLR หรือ MRR
MLR หรือ MRR คืออะไร หลาย ๆ คนคงสงสัย ดังนั้นเราขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ตามนี้
- MLR (Minimum Loan Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี อย่างเช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน อาทิเช่น สินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ เป็นต้น
- MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี อย่างเช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือบัตรเครดิต เป็นต้น
อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวนี้ ทางธนาคารบางที่อาจเลือกใช้ MLR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง หรือบางธนาคารก็ใช้อัตราดอกเบี้ยแบบ MRR เป็นหลักในการปล่อยกู้บ้านที่อยู่อาศัยก็ได้ อัตราดอกเบี้ยแบบ MRR ก็ไม่ได้สูงเสมอไป ในบางทีอาจจะต่ำกว่า MLR ก็เป็นไปได้เช่นกัน จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวนั้น มีการบวก หรือลบขึ้นลง อย่างเช่น MLR +1% หรือ MRR -2%
ทั้งนี้ก็เนื่องจากธนาคารแต่ละแห่ง จะมีการผสมผสานทั้ง 2 แบบเข้าด้วยกัน เพื่อเป็นแรงจูงใจ และสนับสนุนให้คนที่อยากมีบ้านได้ผ่อนบ้านแบบไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเยอะมากเกินไป ในปีแรก ๆ ที่เป็นช่วงเริ่มต้น และยังคงมีภาระในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการตกแต่งเพิ่มเติมบ้านอยู่บ้าง โดยแบ่งคร่าว ๆ ได้ดังนี้
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงแรก จากนั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว อย่างเช่น คงที่ 2 ปีแรก ปีที่ 1 = 3% ปีที่ 2 = 4% หลังจากนั้นคิดแบบลอยตัว คือ MRR-1.5%
- อัตราดอกเบี้ยแบบอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยพิเศษในระยะสั้น จากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว อย่างเช่น ปีที่ 1 = MRR-5% ปีที่ 2 = MRR-3% หลังจากนั้นคืออัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว MRR-1.5%
-
หาสินเชื่อประเภทที่เหมาะกับตัวเอง
ในปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อหลากหลายประเภท แยกตามกลุ่มลูกค้าและอาชีพ หรือความต้องการ อย่างเช่น สินเชื่อสำหรับโครงการจัดสรรที่ธนาคารให้การสนับสนุน ที่เหมาะสำหรับผู้ซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียมที่ธนาคารให้การสนับสนุน ส่วนท่านใด ที่ต้องการรีไฟแนนซ์ อันนี้ก็สามารถทำได้ เพื่อเป็นการไถ่ถอนหลักทรัพย์จำนองจากสถาบันการเงินอื่นให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำในสถาบันการเงินแห่งใหม่ ด้วยเงื่อนไขพิเศษ
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ ผู้พิพากษา อัยการ หรือนักบิน ก็สามารถขอกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษด้วยสินเชื่อบ้านสำหรับกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ
-
ผ่อนบ้านอย่างมีชั้นเชิง
ขั้นตอนการผ่อนบ้าน ที่จะทำให้คุณประหยัดการใช้จ่ายเกี่ยวกับดอกเบี้ยลงได้
- จ่ายเงินต่อเดือนเพิ่ม เนื่องจากการคิดดอกเบี้ยบ้านนั้น เป็นแบบลดต้น – ลดดอก ซึ่งถ้าคุณจ่ายเงินต้นเยอะเท่าไหร่ ดอกเบี้ยก็จะลดลงไปมากเท่านั้น ที่สำคัญ ระยะเวลาในการผ่อนก็จะลดลงตามไปด้วย เชื่อไหมว่า การที่คุณจ่ายเงินผ่อนบ้านเพิ่มอีก 10% ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน คุณก็จะผ่อนบ้านได้หมดเร็วขึ้นอีกประมาณ 7 ปี แต่ถ้าจ่ายเพิ่มอีก 20% ก็จะผ่อนหมดเร็วถึง 11 ปีเลยทีเดียว
- ทำรีไฟแนนซ์บ้าน (การนำบ้านที่เสียอัตราดอกเบี้ยสูง มาขอกู้ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยต่ำลง) ช่วยให้คุณมีอากาสได้ผ่อนดอกเบี้ยที่ถูกลง แต่ก็ต้องตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารด้วยว่ามีเงื่อนไขเป็นอย่างไร และจังหวะที่คุณได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ถ้าคุณมีเงินก้อน ก็ควรที่จะนำมาโปะเงินต้นลงไปในช่วงนี้ ก็จะช่วยลดระยะเวลาการผ่อนบ้านให้หมดเร็วขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปขอลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาทเลยทีเดียว
การวางแผนผ่อนบ้าน เป็นเรื่องสำคัญ หากท่านใดที่ต้องการซื้อบ้าน สามารถนำแนวทางทั้ง 4 ข้อของเราไปประยุกต์ใช้ในการผ่อนบ้านของคุณได้ การวางแผนผ่อนบ้านจะดีหรือไม่ดีนั้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกวิธีการผ่อนบ้านของแต่ละคน รวมถึงการวางแผนการเงินให้เหมาะสมกับการซื้อบ้านของคุณในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม การรู้จักวางแผน และบริหารเงินที่ดี ย่อมสามารถเพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิตของตนเองได้