วันนี้มาลุยกันต่อกับหนึ่งในสินทรัพย์การเงินที่สำคัญใน ตลาดทุน … มา รู้จักหุ้น กันบ้างค่ะ
คนจนเล่นหวยคนรวยเล่นหุ้น
“คนจนเล่นหวยคนรวยเล่นหุ้น” ฟังดูแล้วก็เหมือนเป็นดาบสองคม ในแง่หนึ่งก็เหมือนกับจะช่วยเตือนสติให้คนเลิกเล่นหวยแล้วหันมาลงทุนในหุ้นจะได้มีโอกาสรวยมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็ประหนึ่งว่าหุ้นคือสัญลักษณ์ของความร่ำรวย หากฉันเล่นหุ้น ใครๆ ก็คงมองว่าฉันรวยสินะ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เสมอไป …
กับดักของคนเริ่มเล่นหุ้นแบบยังไม่มีความรู้ อยู่ที่จังหวะของการเริ่มเข้าไปเล่นหุ้นครั้งแรก … ลองนึกภาพ มีคน 2 คน ยังไม่ได้ศึกษาการลงทุนในหุ้นทั้งคู่ แต่ใจร้อนอยากจะลงทุนแล้ว ก็มีคนบอกว่ายิ่งลงทุนเร็วผลตอบแทนจะยิ่งทบต้นทวีคูณไม่ใช่เหรอ ไม่อยากเสียเวลาศึกษาแล้วอ่ะ เริ่มเล่นเลยละกัน
คนที่ 1 เริ่มเล่นช่วงที่หุ้นอยู่ในช่วงฟื้นตัวพอดี : โห ไม่นึกว่าเล่นหุ้นมันจะง่ายขนาดนี้ ซื้อหุ้นตัวไหนก็ได้กำไรหมดเลย แบบนี้ต้องซื้อเพิ่มแล้ว
คนที่ 2 เริ่มเล่นช่วงที่หุ้นอยู่ในช่วงขาลง : อะไรเนี่ยะ นึกว่าลงสุดแล้วทำไมซื้อตัวไหนก็ลงต่อ หรือมันจะมีเจ้าเฝ้าอยู่นะ โอยปวดหัวไม่เล่นละ
ดูแล้วเหมือนคนที่ 1 จะโชคดี แต่ในความเป็นจริงการที่ได้กำไรง่ายเกินไป (ได้กำไรเพียงเพราะเป็นตลาดขาขึ้น) จะทำให้เกิดความประมาท เล่นหุ้นแบบเสี่ยงดวง ซึ่งไม่ต่างจากการเล่นหวยเลย
ส่วนคนที่ 2 ด้วยสถานการณ์ที่เจอ จะทำให้กลายเป็นคนที่กลัวการลงทุน สุดท้ายก็ยอมปล่อยเงินทิ้งไว้เฉย ๆ เสียโอกาสในการให้เงินทำงานต่อไป
สังเกตุไหม คนสองคน นอกจากเป็นคนใจร้อนทั้งคู่แล้ว ยังมีส่วนที่เหมือนกันอีกเรื่องคือทัศนคติต่อคำว่า “เล่นหุ้น” เขามองว่าหุ้นเป็นของเล่น เขากำลัง “เล่น” กับเงิน … สิ่งแรกของนักลงทุนในหุ้นหน้าใหม่จะต้องทำคือ ฟังคำเมนเทอร์บีไว้ “พี่ไม่ได้มาเล่นๆนะคะ” ใช่ค่ะ เงินทองกว่าจะได้มาช่างยากเย็น อย่ามาทำเล่น ๆ กับมันนะคะ
เป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor : VI) หรือ นักเก็งกำไร (Speculators)
ทำไมนะ เวลาไปขอให้ใครสอนเล่นหุ้น เค้าก็มักจะถามว่า แล้วคุณเป็นนักลงทุนแบบ VI หรือ Speculator ล่ะ … แล้วมันต่างกันยังไงหนอ
Value Investor (VI): นักลงทุนแนวนี้จะมีนิสัยการลงทุนแบบผู้ประกอบการ คือจะพยายามเฟ้นหาบริษัทที่มีแนวโน้มในการเติบโตที่ดีในอนาคตโดยดูจากปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ จากนั้นก็จะเข้าซื้อหุ้น โดยการซื้อหุ้นก็เปรียบเสมือนการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นเจ้าของของบริษัทคนนึง ดังนั้นนักลงทุนประเภทนี้จะขายหุ้นก็ต่อเมื่อคิดว่าบริษัทถึงจุดอิ่มตัว หรือความสามารถในการทำกำไรลดลงแล้ว
Speculators : นักลงทุนแนวนี้ จะไม่ค่อยสนใจการมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของเท่าไหร่ แต่จะให้ความสนใจต่อการทำกำไรจากส่วนต่างราคาเป็นหลัก โดยอาศัยข้อมูลจากสถิติทั้งในแง่ของราคา และปริมาณของการซื้อขาย เพื่อหาจุดเหมาะสมในการซื้อขายที่จะทำให้ได้กำไรสูงสุดและขาดทุนน้อยที่สุด
การที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าชอบลงทุนแนวไหน ไม่ได้เป็นการบอกว่าคุณลงทุนถูกหรือผิดวิธี เพราะทั้งสองแบบต่างก็มีข้อดีข้อเสียในตัวของมันเอง แต่ความจำเป็นที่ต้องชัดเจนในแนวทางของตัวเองให้ได้ก่อน เพราะหลักการในการเลือกหุ้น จังหวะในการซื้อ การขาย และกลยุธที่จะต้องใช้สำหรับการลงทุนทั้งสองแบบนั้นแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนสองคนถือหุ้นตัวเดียวกันอยู่ ต่อมาราคาของหุ้นตัวนี้ตกลงไปเรื่อย ๆ Speculators จะมีการวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้าแล้วว่า จากสถิติที่ผ่านมา หากหุ้นตัวนี้ราคาตกลงไปถึง XX บาท มีความเป็นไปได้สูงที่จะลงต่อ ดังนั้นเค้าจะมีการตั้งราคาไว้เลยว่า หากราคาตกถึงระดับนี้แล้วจะยอม Cut loss หรือตัดใจขายขาดทุน เพื่อป้องกันการติดดอย ในขณะที่นักลงทุนแนว VI ก็จะมีการวิเคราะห์ โดยการดูจากปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ตั้งแต่ระดับมหัพภาคจนถึงระดับงบการเงินของบริษัท หากราคาหุ้นตกอันเนื่องมาจากเกิดข่าวบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทในระยะสั้น ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรระยะยาวของบริษัทไม่ได้เปลี่ยนแปลง การที่ราคาหุ้นตกจึงเป็นโอกาสที่นักลงทุนแนว VI จะซื้อหุ้นเพิ่มเพราะมองว่าเป็นช่วงที่ราคาหุ้นถูกกว่าที่ควรจะเป็น เป็นต้น
ดังนั้นการตอบตัวเองให้ได้ว่าเราเป็นนักลงทุนประเภทไหน จะทำให้เราสามารถ focus กับแนวปฏิบัติได้แบบไม่หลงทาง รู้ได้อย่างชัดเจนว่าจะรับมือกับสถานการณ์เมื่อหุ้นขึ้นหรือหุ้นลงได้อย่างไร
บางท่านอาจจะบอกว่า อยากจะเป็นนักลงทุนแนว VI นะ แต่มันน่าเบื่ออ่ะ เพราะการเฝ้ารอการเติบโตของบริษัทที่ลงทุนไปนั้นต้องใช้เวลานานหลายปี ก็ไม่ผิดอะไรหากท่านจะเป็นนักลงทุนแบบผสม แต่ก็ควรจัดสรรให้ชัดเจนหุ้นตัวไหนเลือกมาโดยใช้หลักแบบ VI ตัวไหนเลือกมาด้วยหลักการของ Speculator แล้วก็จัดการกับหุ้นแต่ละตัวตามแบบฉบับที่เลือกไว้ตั้งแต่ต้น
อ่านซีรี่ย์การเงิน ภาคแรก : ถึงเวลา…ใช้เงินทำงาน: รู้จัก ตลาดการเงิน