ใกล้ถึงฤดูกาลของการประชุมผู้ถือหุ้นกันแล้ว นักลงทุนอย่างเราๆ อย่าลืมไปใช้สิทธิของการเป็นผู้ถือหุ้นในแต่ละบริษัทที่ถือหุ้นกันอยู่นะ บทความนี้จะมาบอก สิทธิของผู้ถือหุ้น ที่นักลงทุนน่าจะต้องรู้ไว้กันสักนิด ถึงแม้ว่าเราจะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อย เราก็มีสิทธิมีเสียงในบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่เหมือนกัน
มาเริ่มที่การคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อยเนี่ยจะมีกฎหมายมหาชน หรือ พ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายหลักที่คุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น แต่ทั้งนี้แล้วก็ต้องยอมรับในเสียงข้างมากเหมือนกัน สำหรับกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535และประกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นตัวเสริมเวลาที่ผู้บริหารบริษัททุจริต ทำให้บริษัทเสียหาย กฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์ก็มีบทลงโทษทางอาญาเพิ่มเติม ซึ่งเราจะได้ยินข่าวบ่อยๆ ในการลงโทษผู้บริหารบริษัทจาก ก.ล.ต.
อ่านเพิ่มเติม : เรื่องนี้ต้องเอาจริง ก.ล.ต.ลงโทษทุจริต ปั่นหุ้น
ความสำคัญต่อมาในเสียงของผู้ถือหุ้นรายย่อย คือ ด้วยกฎหมายมหาชนและกฎหมายหลักทรัพย์กำหนดในการขอมติในบางเรื่องจะต้องใช้เสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุม ซึ่งในกรณีแบบนี้เสียงสนับสนุนของรายย่อยอย่างเราจะมีความหมายได้ เพราะการที่จะมีผู้ถือหุ้นถึงร้อยละ 75 ของบริษัทหนึ่งน่าจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้น ถ้าอยากได้มติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นถึง 3 ใน 4 ต้องอธิบายและให้เหตุผลเพื่อชักจูงให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นเห็นด้วย จนยอมลงมติให้ ได้แก่
-
การเพิ่มทุน การลดทุน การควบกิจการ
-
การแก้ไขข้อบังคับบริษัท
-
การขาย โอนกิจการของบริษัทที่สำคัญให้กับบุคคลอื่น
-
การซื้อ รับโอนกิจการของบริษัทอื่นมาเป็นของบริษัท
-
การทำ แก้ไข เลิกสัญญา เกี่ยวกับการให้เช่ากิจการที่สำคัญของบริษัท
-
การมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าจัดการธุรกิจของบริษัท การรวมกิจการกับบุคคลอื่นโดยมีวัตถุประสงค์จะแบ่งกำไรขาดทุนกัน
-
การขายหุ้นให้กับกรรมการหรือพนักงาน (เพราะเป็นการให้หุ้นกับผู้บริหาร)
-
การขายหุ้นจนทำให้ใครคนใดคนหนี่งมีอำนาจควบคุมบริษัท โดยคนๆ นั้นไม่ต้องทำคำเสนอซื้อ
หรือจะเป็นการคัดค้านตามกฎหมายหลักทรัพย์ที่ให้สิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถรวบรวมผู้ถือหุ้นจำนวน 25 คน และมีจำนวนหุ้นที่ถือตั้งแต่ 10% สามารถคัดค้านการให้หุ้นแก่กรรมการและพนักงานได้
กรณีถัดมาที่เราหากเราสังเกตว่าผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่นั้น มีการกระทำที่ไม่เหมาะสมและดูเหมือนจะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท จนอาจจะทำให้บริษัทสามารถเสียหารได้
สิ่งที่เราจะต้องทำคือ ผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างเราๆ จะต้องร่วมกันปกป้องสิทธิของเรา โดยจะต้องรวบรวมผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 5% ของหุ้นที่จำหน่ายทั้งหมด เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากกรรมการบริษัทได้ แต่ถ้าบริษัทไม่ยอมฟ้องกรรมการ เราก็สามารถนำคดีขึ้นฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมดทดแทนแทนบริษัทได้ และขอให้ศาลสั่งให้กรรมการนั้นออกจากตำแหน่งก็ได้
ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างเราต้องให้ความสำคัญ คือ หนังสือนัดประชุมและรายงานการประชุม ซึ่งเอกสารทั้งสองอย่างนี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบริษัทและกรรมการได้ หากปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทและมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเราจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่หนังสือนัดประชุมเลยด้วยซ้ำว่า บริษัทจะต้องส่งให้เราได้อ่านไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนการประชุม และจะต้องมีวาระการประชุมพร้อมกับรายละเอียดตามสมควร ต้องระบุด้วยว่าเป็นวาระเพื่อทราบ เพื่อนุมัติ หรือเพื่อพิจารณา และที่สำคัญต้องมีความเห็นของกรรมการด้วย เพื่อที่เราจะได้ทำความเข้าใจก่อนที่จะไปใช้สิทธิออกเสียง
และก็อย่าลืมว่าเมื่อประชุมเสร็จแล้วก็จะต้องมีรายงานการประชุมที่จะต้องส่งให้เราได้อ่านภายใน 14 วันนับจากวันที่ประชุม เพื่อที่อย่างน้อยว่ามติที่ประชุมนั้นเป็นไปตามผลการประชุมที่เกิดขึ้น เพราะก็อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ที่รายงานการประชุมไม่เป็นไปตามมติในที่ประชุม ซึ่งถ้าเราเห็นว่าไม่ถูกต้องก็สามารถรวบรวมผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 5 คนหรือมีหุ้นรวมกันตั้งแต่ 1 ใน 5 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้ว ส่งเรื่องให้ศาลสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมได้ภายใน 1 เดือนนับจากวันที่ได้ลงมติ
เห็นหรือเปล่าว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างเราก็มีสิทธิมีเสียงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อรู้อย่างนี้แล้วถ้าได้รับหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นมาแล้วก็อย่าลืมอ่านให้เข้าใจและเข้าร่วมประชุมด้วยนะ เพื่อรักษาสิทธิและเสียงของเราไว้