การลงทุนเป็นการใช้เงินของเราให้ทำงานในการสร้างผลตอบแทนให้กับเรา การลงทุนมีหลายแบบมีทั้งแบบที่มีความเสี่ยงมากและความเสี่ยงน้อย ซึ่งก็ให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันไป ก้าวแรกของการลงทุนของหลายคนถือเป็นการเปลี่ยนชีวิตจากคนทำงานธรรมดา ๆ กลายเป็นนักลงทุนที่ใช้เงินไปสร้างผลตอบแทนเพื่อรายได้ให้กับตัวเอง สำหรับบางคนก้าวของการลงทุนถือเป็นการเปลี่ยนชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ที่ตัวเองก็ไม่เคยนึกถึงเหมือนกัน
วันนี้จะมารีวิวหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้น เรื่อง “ก้าวเล็ก ๆ ในตลาดหุ้น ก้าวที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต” เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความ 50 บทความที่เขียนโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร มาตลอดระยะเวลา 10 ปี ดร.นิเวศน์เป็นกูรูทางด้านการลงทุนในตลาดหุ้นของไทยที่ทุกคนต้องรู้จักชื่อ แนวการลงทุนของ ดร. นิเวศน์ นั้นเป็นการลงทุนในแบบที่เรียกว่า Value Investing หรือการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ที่จะเลือกลงทุนในหุ้นแบบระยะยาว ไม่ซื้อขายเก็งกำไรในระยะสั้น ๆ สำหรับหนังสือเล่มนี้ก็เป็นเล่มที่รวบรวมบทความที่เขียนขึ้นโดย ดร. นิเวศน์ในโอกาสที่ท่านมีอายุครบรอบ 60 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2556 แต่ถึงเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน บทความที่ ดร.นิเวศน์เขียนไว้ก็ไม่เคยล้าสมัย มันเป็นแนวคิดและประสบการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นที่ใช้ได้ตลอด มาดูกันค่ะ ว่าดร.นิเวศน์ เขียนอะไรไว้ในนั้นกันบ้าง
อ่านเพิ่มเติม : อยากรู้เทคนิคหุ้น VI ต้องรู้จัก สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)
บัญญัติ 10 ประการของการลงทุน
ดร.นิเวศน์ได้พูดถึงบัญญัติ 10 ประการของการลงทุนไว้อย่างน่าสนใจว่า
- หนึ่งต้องมีความรู้ก่อนลงทุน
- สองต้องลงทุนอย่างเพียงพอ
- สามการลงทุนที่ได้ผลดีต้องเป็นแบบทบต้นคือต้องห้ามนำดอกผลมาใช้ ให้นำดอกผลลงทุนต่อ
- สี่อย่าให้ขาดทุน
- ห้าต้องกระจายความเสี่ยง
- หกเข้าใจกลไกตลาดหุ้นว่าต้องมีราคาขึ้นลง การลงทุนต้องมองไปที่อนาคตแบบไกล ๆ
- เจ็ดเลือกซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีในราคาที่ต่ำ
- แปดต้องมีเงินสดเป็นสภาพคล่องอย่างน้อยเท่ากับรายจ่าย 6 เดือน
- เก้านักลงทุนที่ดีต้องใจเย็น และรู้จักอดทน
- สิบนักลงทุนที่ดีต้องใช้ชีวิตที่พอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย
หากทำได้ครบตามบัญญัติ 10 ประการนี้ เชื่อได้เลยว่าการลงทุนของเราจะต้องให้ผลตอบแทนในระยะยาวแบบคุ้มค่าอย่างแน่นอนค่ะ
จิตวิทยาการลงทุน
ดร.นิเวศน์ได้บอกไว้ว่าศัตรูที่สำคัญที่สุดของการลงทุนนั่นก็คือตัวของเราเอง ดร.นิเวศน์หมายถึงจิตใจของนักลงทุนหรือจิตวิทยาการลงทุน สิ่งที่ดร. นิเวศน์เขียนไว้เพื่อเตือนให้นักลงทุนระมัดระวังก็คือ
- หนึ่งเรื่องของความมั่นใจในตัวเองที่มากเกินไปจะทำให้การลงทุนผิดพลาดได้ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงตลอดเวลา
- สองนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะตอบสนองต่อเหตุการณ์รุนแรงแบบทันทีไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย เรื่องนี้สำคัญคือใจต้องนิ่ง ดูและวิเคราะห์ให้ออกว่าเหตุการณ์รุนแรงนั้นเป็นแค่ชั่วคราวหรือถาวร ต้องทำใจให้นิ่งเข้าไว้
- สามนี่เรียกว่าเป็นนิสัยของนักลงทุนไทยเลยก็ว่าได้ เมื่อราคาหุ้นขึ้นไปมาก ๆ ก็มักจะทนกำไรไม่ไหว ต่างขายออกมาเพื่อทำกำไรกัน ในขณะที่เมื่อขาดทุนแทนที่จะขายทิ้งไป กลับเลือกเก็บเอาไว้ เพื่อรอวันที่หุ้นขึ้นมาอีกครั้ง ในเรื่องนี้ ดร.นิเวศน์ได้ให้แนวคิดไว้ถึงการลงทุนในระยะยาวที่จะทำให้ความเสี่ยงต่อความผันผวนเหล่านี้ลดลงไปได้
- สี่ นักลงทุนมักคิดว่าตัวเองมีเทคนิคที่ดีในการดูราคาหุ้น รู้จังหวะซื้อและขายทำกำไรได้ รวมถึงเรื่องของแนวรับ แนวต้าน ดร.นิเวศน์เองมองว่าตัวเขาไม่เคยดูเรื่องของเทคนิคและมีความเชื่อว่าราคาหุ้นไม่ได้มีรูปแบบที่แน่นอนที่คนเราจะคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตกันได้ แต่ตนเองเชื่อในตัวของธุรกิจมากกว่า
- ห้า นักลงทุนมักเชื่อว่าราคาของหุ้นจะเป็นไปตามราคาอ้างอิงของอะไรบางอย่าง เช่น ราคาหุ้น IPO ที่นักลงทุนบางคนเชื่อว่านั่นคือราคาพื้นฐาน อย่างไรราคาหุ้นก็ไม่น่าจะตกลงไปต่ำกว่าราคา IPO หรือหากลงไปต่ำกว่าก็จะต้องกลับขึ้นมาในระดับราคาของ IPO ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
- หก นักลงทุนมักจะคิดหรือรู้สึกว่าตัวเองต้องทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้ ต้องซื้อต้องขายกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งที่จริงก็ไม่เห็นจำเป็น ดร.นิเวศน์ในบอกไว้ว่าบางทีในปีหนึ่ง ดร.ซื้อขายหุ้นแค่เพียงครั้งเดียวก็เคยมาแล้ว
กับดักของ Value Investor
ดร.นิเวศน์ได้บอกไว้ว่า แม้แต่การลงทุนในหุ้นแบบ Value Investing หรือการลงทุนในแบบที่เน้นคุณค่านั้น ก็ยังมีกับดักที่ทำให้นักลงทุนหลายคนต้องติดกับอยู่เหมือนกัน เช่น นักลงทุนบางคนเลือกซื้อหุ้นบางตัวโดยเลือกดูข้อมูลแค่เพียงบางตัวเท่านั้น แล้วตัดสินเข้าลงทุนในหุ้นโดยคิดว่าราคาตอนนั้นถูกแล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่ อาจมีข้อมูลตัวอื่นที่แสดงว่าหุ้นนั้นไม่ได้ถูกเหมือนกัน
- กับดักเงินปันผล นักลงทุนหลายคนต้องติดกับดักเงินปันผลโดยเมื่อเห็นเงินปันผลสูงถึงกว่า 10% ก็เลือกเข้าลงทุน โดยอาจไม่ได้รู้ว่าเมื่อจ่ายเงินปันผลแล้ว ราคาหุ้นมักต่ำลงมาเท่ากับหรือมากกว่าเงินที่ปันผลออกมา หากเป็นกิจการดีมีอนาคต ราคาหุ้นก็จะกลับขึ้นไป แต่หากเป็นกิจการที่ยังมีความไม่แน่นอนในอนาคต การจ่ายเงินปันผลออกมาแล้วราคาหุ้นตกลงไป อาจต้องใช้เวลานานกว่าราคาจะกลับขึ้นมาได้
- กับดัก ค่า P/E ต่ำ นักลงทุนส่วนใหญ่มักเลือกดู P/E ratio ที่ต่ำนี้ว่าเป็นหุ้นที่มีราคาถูก ดร.นิเวศน์ได้บอกไว้ว่านักลงทุนที่ดีต้องดูข้อมูลให้ครบทุกด้าน P/E ratio ที่ต่ำอาจเป็นเพราะบริษัทมีกำไรสูงแต่เป็นกำไรที่เกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียวก็ได้ ค่า P/E จึงลดลงต่ำเป็นพิเศษ หากนักลงทุนอ่านข้อมูลของกิจการนั้นโดยละเอียดก็จะเข้าใจถึง P/E ratio ที่ต่ำนี้ว่าไม่ได้เป็นเพราะหุ้นมีราคาถูก
- กับดัก จากผู้บริหารบริษัท การมีธรรมาภิบาลหรือชื่อเสียงของกรรมการบริหารบริษัทก็เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องมีข้อมูลและติดตามข่าวสาร งบการเงินของบริษัทหรือการจ่ายเงินปันผลดีเป็นสิ่งที่ผู้บริหารสามารถเลือกปรับแต่งเพื่อให้ดูดี ทำให้ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้น ทำให้หุ้นมีราคาดีขึ้นได้ เมื่อหุ้นขึ้นผู้บริหารเหล่านี้ก็เลือกปล่อยหุ้นในมือของตัวเองออกมา นักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นราคาในช่วงนี้ก็ต้องถือว่าได้ของแพงหรือต้องติดหุ้นในที่สุด