เมื่อเราเริ่มเป็นผู้ลงทุนในหุ้นแล้ว…. เรื่อง ภาษีจากการเล่นหุ้น ก็เป็นสิ่งที่เราจะละเลยไม่ได้กันทีเดียว เพราะอะไรนะเหรอ … ก็เพราะว่าถ้าเราศึกษากันดีๆ แล้ว ภาษีที่เกิดจากการลงทุนในหุ้นก็สามารถช่วยเราประหยัดเงินภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปีได้ไม่น้อยเลยทีเดียว…. เรามาดูกันเลยดีกว่า
กรณีที่เราซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามีการลงทุนในหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ จะมีเงินได้เกิดขึ้น 2 ประเภท คือ
- รายได้จากเงินปันผล (Dividend)
- รายได้จากกำไรในการขายหรือโอนหุ้น (Capital Gain)
โดยเงินปันผลและกำไรจากการขายหรือโอนหุ้นนั้นมีที่มาจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือนิติบุคคล ซึ่งมีการเสียภาษีไปแล้วในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคล และเมื่อนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลหรือกำไรจากการขายหรือโอนหุ้นให้กับนักลงทุนอย่างเราๆ แล้ว ก็จะถือว่าเป็นรายได้ของเราอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากรายได้ประจำ ที่เราก็จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจ่ายภาษีซ้ำซ้อนกันจากรายได้ตัวเดียวกัน
สำหรับภาระภาษีที่เราต้องรับผิดชอบเมื่อได้รับเงินปันผลนั้นแบ่งได้ 2 ส่วน คือ
- เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทยที่ไม่ได้รับ BOI
จะมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ณ วันที่จ่ายเงินปันผล ซึ่งถ้าเราเลือกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเราก็ไม่ต้องนำเงินปันผลไปรวมเป็นรายได้เพื่อยื่นภาษีสิ้นปี แต่ถ้าเราเลือกที่จะไม่หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ณ วันที่จ่ายเงินปันผลแล้วล่ะก็ พอถึงสิ้นปีเราจะต้องนำเงินปันผลจำนวนนี้ไปรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีด้วย แต่สิ่งที่เราจะได้ตามมา คือ สามารถนำภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตรา 30% ที่แฝงอยู่ในเงิน ปันผลที่เราได้รับมาขอคืนภาษีได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% จากเงินปันผลที่เราเลือกว่าไม่ให้หัก ณ วันที่ได้รับเงินปันผลอีกด้วย
- ส่วนอีกกรณีหนึ่ง คือ เราได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับ BOI นั้น
มีเพียงการหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ณ วันที่จ่ายเงินปันผล ส่วนสิ้นปีไม่ต้องนำเงินปันผลจำนวนนี้มารวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีตอนสิ้นปี สำหรับกำไรที่เกิดขึ้นจากขายหรือโอนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ในกรณีที่เรามีการขายหรือโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ เราจะต้องนำรายได้ส่วนนี้ไปรวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีตอนสิ้นปีด้วย
ดังนั้นกรมสรรพากรจึงกำหนดแนวทางมาเพื่อช่วยบรรเทาภาษีให้กับเราในฐานะที่เป็นผู้ที่ได้รับเงินปันผล นั่นก็คือ การเครดิตภาษีเงินปันผล ซึ่งกรมสรรพากรได้กำหนดไว้ว่าให้มีการคืนเงินภาษีที่เกิดจากการรับเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมีทางเลือกให้สองทาง
- โดยทางเลือกแรก คือ ยอมที่จะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 10% ณ วันที่ได้รับเงินปันผล แล้วตอนสิ้นปีก็ไม่ต้องนำเงินปันผลมาคำนวณภาษี ณ สิ้นปีอีก
- ส่วนทางเลือกที่สอง คือ นำเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีครั้งเดียวตอนสิ้นปี ซึ่งในการเลือกวิธีเสียภาษีนี้จะต้องเลือกให้เหมือนกันกับเงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรจากการขายหุ้นทุกรายการ
โดยเราจะเลือกใช้เครดิตภาษีเงินปันผลวิธีที่หนึ่งหรือสองนั้นมีเทคนิคง่ายๆ ก็คือ ให้เราดูจากเงินได้สุทธิที่เราต้องเสียภาษีเงินได้ คือ ถ้าเรามีเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีต่ำกว่า 30% หรือยังอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีก็น่าที่จะเลือกวิธีที่ 2 คือ นำเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีสิ้นปี แต่ถ้าหากเรามีรายได้สุทธิที่จะต้องเสียภาษีในอัตรา 37% แล้วล่ะก็การนำเงินปันผลมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีสิ้นปีอาจจะไม่ได้ช่วยให้เราประหยัดภาษีมากนักเท่าไร แต่เพื่อความแน่นอนแล้วเราควรที่จะลองคำนวณกับตัวเลขจริงๆ เพื่อที่จะเปรียบเทียบกันได้อย่างชัดเจนอีกที