ซื้อหุ้นราคาแพงไปหรือเปล่า ดูจากอะไร ?
คงมีอยู่หลายคนที่อยากซื้อหุ้นแต่ไม่รู้ว่าหุ้นที่ซื้อนั้นมีราคาแพงเกินไปหรือเปล่า และก็ไม่รู้ว่าราคาที่เห็นอยู่นั้นน่าซื้อหรือยัง เพราะบางครั้งหุ้นที่มีราคา 1 บาท อาจจะไม่ใช่หุ้นราคาถูก และหุ้นที่มีราคา 400 บาทก็อาจจะไม่ได้แปลว่าเป็นหุ้นราคาแพง ซึ่งราคาเพียงอย่างเดียวอาจจะบอกไม่ได้ เราจึงต้องใช้มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นมาเป็นตัวเปรียบเทียบด้วย
ถ้ามูลค่าที่แท้จริง “มากกว่า” ราคาหุ้น ณ วันที่เรากำลังจะซื้อ นั่นก็หมายความว่าหุ้นตัวนั้นราคาต่ำกว่าที่ควรเป็นถึงจะเป็นหุ้น “น่าซื้อ” เพราะมีราคาถูก แต่ในทางกลับกัน มูลค่าที่แท้จริง “น้อยกว่า” ราคาหุ้น ณ วันที่เรากำลังซื้อ นั่นก็แสดงว่าหุ้นตัวนั้นราคาสูงกว่าที่ควรเป็น ก็หมายความว่าหุ้นตัวนั้น “ไม่ควรจะซื้อ” แต่ถ้าเรามีหุ้นแบบนี้อยู่ในมือแล้วล่ะ ส่งที่น่าจะทำ คือ เราควรที่จะขายหุ้นตัวนี้ออกไป เพราะมีราคาสูงอยู่นั่นเอง
สำหรับวิธีการที่จะให้เราได้มูลค่าหุ้นที่แท้จริงออกมานั้นมีอยู่ 2 วิธี คือ
- การคำนวณหาอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น หรือ PE Ratio (Price to Earning Ratio)
- และอีกวิธีคือ การคำนวณมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value)
ซึ่งเราสามารถเลือกใช้ได้ว่าจะนำราคาหุ้นตัวที่เราสนใจ ณ วันที่จะซื้อเปรียบเทียบกับมูลค่าหุ้นที่แท้จริง ที่คำนวณได้ และอย่างที่บอกไปแล้วคือ ถ้ามูลค่าที่แท้จริงมากกว่าราคาหุ้น เราก็น่าที่จะลงทุนซื้อตัวนั้นได้ เพราะถือว่าเป็นหุ้นที่มีราคาถูกและน่าซื้ออยู่ แต่ถ้าตรงกันข้ามกันก็ยังไม่ควรที่จะลงทุน
อ่านเพิ่มเติม : หามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นโดย วิธีคิดลดเงินปันผล
จริงๆ แล้วมูลค่าหุ้นที่แท้จริงนี้เราไม่ต้องมาคำนวณเอง เพราะในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์จะมีตัวเลขเหล่านี้แสดงอยู่ แต่สิ่งที่เราต้องทำเอง คือ การทำความเข้าใจและการอ่านค่าของตัวเลขทั้งสองนี้ เพื่อที่จะได้นำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง เรามาเริ่มที่อัตราส่วนกำไรต่อหุ้น หรือ PE Ratio กันก่อน โดยถ้าแปลความง่ายๆ สำหรับ PE Ratio คือ เราจะยอมจ่ายเงินซื้อหุ้นเป็นเงินกี่เท่าของกำไรที่บริษัททำได้ หรือยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราสนใจจะซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท และมี PE Ratio เท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น นั่นหมายความว่าเรายอมควักกระเป๋าซื้อหุ้นด้วยราคาที่สูงกว่ากำไรที่บริษัททำได้ถึง 10 เท่า และถ้าหาบริษัททำกำไรได้ปีละ 1 บาทไปเรื่อย นั่นก็แสดงว่าเราต้องใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะได้ทุนคืนจากการซื้อหุ้นตัวนี้
เพราะฉะนั้นสรุปแบบง่ายๆ คือ ถ้าบริษัทมี PE ต่ำ แสดงว่าราคาหุ้นยังต่ำกว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ซึ่งถ้าเราซื้อมาแล้วล่ะก็อีกไม่กี่ปีก็จะได้ทุนคืน แต่ถ้าค่า PE สูง แสดงว่าราคาหุ้นสูงเกินไปเมื่อเทียบกับการทำกำไรของบริษัท และต้องรออีกหลายปีกว่าจะคืนทุน แต่ก็เพื่อความยุติธรรมเราควรจะนำ PE ของหุ้นตัวที่เราสนใจไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมและบริษัทที่มีการดำเนินคล้ายๆ กับหุ้นที่เราสนใจด้วย เพื่อที่เราจะได้หุ้นในราคาที่น่าซื้อจริงๆ
ส่วนมูลค่าที่แท้จริงอีกตัวหนึ่ง คือ ราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value หรือ PBV) ที่มีวิธีคิดคล้ายกับ PE Ratio แต่ต่างกันที่จะเอาราคามาเทียบกับกำไรแล้ว เราจะเอาราคาหุ้นมาเปรียบเทียบกับมูลค่าทางบัญชีแทน ซึ่งค่า PVB นั้นจะเป็นตัวบอกว่าเราจะยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้นเป็นกี่เท่าเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น โดยค่า PVB เป็นการบ่งบอกถึงความมั่งคั่งหรือมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท แต่ก็เป็นเพียงความมั่งคั่งทางบัญชีเท่านั้น ซึ่งบางบริษัทก็อาจจะมีมูลค่าอื่นๆ ที่ต้องนำคิดอีก
แต่การใช้ค่า PVB มาคิดว่าหุ้นนั้นราคาน่าซื้อหรือเปล่านั้น อาจจะเหมาะกับหุ้นเพียงบางกลุ่มเท่านั้น เพราะบางอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจบริการอาจจะมีมูลค่าทางบัญชีต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ ดังนั้นเราจึงนิยมใช้ค่า PVB กับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางบัญชีที่สามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ เช่น กลุ่มธนาคารกันมากกว่า และที่สำคัญเราจะต้องไม่ลืมนำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมและบริษัทคู่แข่งด้วย