ตลาด TFEX เคยได้ยินบ่อยๆ แต่สงสัยจังเค้ามีการซื้อขายอะไรกันบ้าง …แต่ก่อนที่เราจะไปดูว่ามีการซื้อขายอะไรกัน เราต้องมารู้จักกันก่อนว่าตลาด TFEX คือ อะไร
TFEX หรือ บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เปิดทำการเพื่อให้มีการซื้อขายอนุพันธ์ (Derivatives) ซึ่งให้มีการซื้อขาย 2 ประเภท ได้แก่ สัญญาฟิวเจอร์ส (Future) และ สัญญาออปชั่น (Options) ส่วน Derivatives อีก 2 ประเภทที่ไม่ได้มีการซื้อขายกันในตลาด TFEX ก็คือ สัญญาฟอร์เวิร์ด และสัญญาสวอป นั่นก็เป็นเพราะว่า 2 ประเภทสัญญานี้เป็นการตกลงราคากันเองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย จึงไม่จำเป็นที่จะต้องผ่านคนกลาง เช่น ถ้าเราต้องการซื้อสัญญา Forward หรือ สัญญา SWAP สักฉบับ เราก็เดินไปที่ธนาคารแล้วก็บอกเงื่อนไขในการซื้อขายได้โดยตรงเลย
สัญญาฟิวเจอร์ส (Future)
ที่นี้มารู้จักสัญญาฟิวเจอร์ส (Future) ก่อนว่าสัญญาฟิวเจอร์สเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ตกลงราคาซื้อขายกันไว้อย่างแน่นอน โดยผู้ซื้อและผู้ขายต้องทำตามสัญญาในจำนวนและราคาที่ได้ตกลงกันไว้ ไม่ว่าราคาของสินค้าในวันที่ครบสัญญาจะแตกต่างจากที่ได้ตกลงกันไว้ โดยประเภทของสินค้าที่ใช้อ้างอิงราคาสำหรับ ฟิวเจอร์ส ได้แก่ ดัชนีราคาหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ย พันธบัตรรัฐบาล ทองคำ น้ำมันดิบ และอัตราแลกเปลี่ยน
สัญญาออปชั่น (Options)
ส่วนสัญญาออปชั่น (Options) จะดูซับซ้อนกว่าฟิวเจอร์ส ซึ่งออปชั่นเป็นสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อที่จะเรียกให้ผู้ขายส่งมอบสินค้า หรือชำระราคา หรือชำระส่วนต่างราคาของสินค้าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยผู้ซื้อออปชั่นจะเลือกใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ หากผู้ซื้อเลือกใช้สิทธิ ผู้ขายก็มีภาระต้องทำตามสัญญา โดยทั่วไปแล้วสัญญาออปชั่นจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Call Options และ Put Options
- Call Options
โดย Call Options คือ การให้สิทธิกับผู้ซื้อออปชั่นในการ “ซื้อ” สินค้าจากผู้ขายออปชั่น ตามราคาที่ตกลงกันไว้
- Put Options
คือ การให้สิทธิกับผู้ซื้อออปชั่นในการ “ขาย” สินค้าแก่ผู้ขายออปชั่นในราคาที่ตกลงกัน โดยอ้างอิงราคาจากสินค้าอ้างอิงตามจำนวน ราคา และระยะเวลาที่ตกลงกันไว้
ทั้งนี้ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเงินค่าซื้อออปชั่นหรือค่าพรีเมียมให้กับผู้ขาย ปัจจุบัน TFEX เปิดให้มีการซื้อขายออปชั่น คือ SET 50 Index Options
ฟิวเจอร์สกับออปชั่นอ่านดูแล้วก็น่าจะเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วทั้ง 2 ตัวนี้มีความแตกต่างกันอยู่ ได้แก่
- ฟิวเจอร์สจะเปรียบเหมือนภาระผูกพัน คือ เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายตกลงทำสัญญาที่จะซื้อขายสินค้าอ้างอิงกันในอนาคตแล้ว เมื่อครบกำหนดทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้
- แต่ในขณะที่ออปชั่นเป็นสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อที่จะซื้อหรือขายสิทธิสินค้าอ้างอิงในสัญญา แต่เมื่อครบกำหนดแล้วผู้ซื้อสามารถเลือกว่าจะสิทธิหรือไม่ใช้สิทธิตามสัญญาก็ได้ แต่ผู้ขายจะต้องปฏิบัติตามสัญญา
โอกาสในการทำกำไรหรือขาดทุนของฟิวเจอร์สและออปชั่นก็ต่างกัน
- โดยที่ฟิวเจอร์สนั้นผู้ซื้อและผู้ขายมีโอกาสกำไรและขาดทุนได้ไม่จำกัด เพราะว่าทั้งคู่จะต้องทำตามที่ตกลงกันไว้เมื่อครบสัญญา
- ส่วนออปชั่นนั้นผู้ซื้อจะขาดทุนเท่ากับค่าพรีเมียมที่จ่ายไป แต่โอกาสในการทำกำไรมีได้ไม่จำกัด เพราะว่าผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิตามสัญญาเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด ขณะที่ผู้ขายจะตรงข้ามกับผู้ซื้อเลย ก็คือ ผู้ขายจะมีกำไรได้เท่ากับค่าพรีเมียมที่ได้รับจากผู้ซื้อ แต่โอกาสในที่ต้องรับผลขาดทุนมีได้ไม่จำกัด เพราะผู้ขายจะต้องทำตามสัญญาที่ตกลงไว้กับผู้ซื้อ
และสุดท้ายของความแตกต่างระหว่างฟิวเจอร์สกับออปชั่น ก็คือ การวางเงินประกัน (margin)
- ถ้าเป็นฟิวเจอร์สทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องวางเงินประกันส่วนหนึ่งไว้ที่โบรกเกอร์
- แต่ถ้าเป็นออปชั่นผู้ซื้อจ่ายแต่ค่าพรีเมียม ในขณะที่ผู้ขายจะต้องวางเงินประกัน เหตุผลก็คือโอกาสในการขาดทุนของผู้ซื้อและผู้ขายต่างกันนั่นเอง