คุณสมบัติของผู้ที่จะกู้บ้านได้นั้นมีอยู่หลายประการด้วยกัน ก่อนพิจารณาเพื่อทำเรื่องกู้ซื้อบ้านจึงต้องพิจารณาคุณสมบัติของตัวเองก่อนว่าพร้อมสำหรับการยื่นเอกสารเพื่อสมัครสินเชื่อบ้านแล้วหรือยัง ธนาคารและสถาบันการเงินที่เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อบ้านจะกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับผู้กู้ไว้ คุณสมบัติที่ธนาคารกำหนดไว้สำหรับผู้ที่จะกู้บ้านได้ หลัก ๆ ก็จะมีเรื่องของอายุ อาชีพ รายได้ ประวัติในการชำระหนี้ ภาระหนี้ และผู้กู้ร่วม คุณสมบัติสำคัญอีกข้อหนึ่งก็คืออายุงาน ซึ่งมีผู้ต้องการกู้ซื้อบ้านหลายคนสงสัยว่าต้องทำงานกี่เดือนถึงจะกู้ซื้อบ้านได้
อ่านเพิ่มเติม : เงินเดือนเท่านี้ กู้ซื้อบ้านได้เท่าไหร่ กันนะ ?
ทำไมกู้ซื้อบ้านต้องดูอายุงาน
เรื่องของอายุงานหรือทำงานมาแล้วกี่เดือนนี้ ธนาคารเขาต้องการทราบเพื่อที่จะวิเคราะห์ถึงความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การงานของเรา หากว่าเราทำงานมานานเกิน 6 เดือนแล้ว ส่วนใหญ่ก็หมายถึงว่าเราพ้นช่วงทดลองงานและทำงานมาผ่านมาได้ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งก็แปลว่าโอกาสที่จะทำงานต่อเนื่องไปนั้นมีมากกว่า การเพิ่งผ่านการทำงานมาไม่ถึง 3 เดือน หรือ 6 เดือน ที่ยังถือเป็นช่วงทดลองงานหรือยังเป็นช่วงที่ไม่แน่นอนยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานได้อีก
ต้องทำงานมากี่เดือน ถึงกู้ซื้อบ้านได้
ธนาคารส่วนใหญ่จะดูอายุงานของผู้กู้เป็นเกณฑ์ที่อย่างต่ำ 1 ปี บางธนาคารจะมีข้อกำหนดไว้ในคุณสมบัติของผู้กู้เลยว่าจะต้องทำงานในที่ทำงานปัจจุบันมาแล้วไม่ต่ำกว่ากี่ปี เช่น 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วแต่ ส่วนบางธนาคารก็ไม่ได้กำหนดไว้ในคุณสมบัติของผู้กู้ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าหากเพิ่งเปลี่ยนงานมาไม่เกิน 3 – 6 เดือน มักจะกู้ไม่ผ่าน แต่ธนาคารส่วนใหญ่จะพิจารณาอายุการทำงานจากที่ที่ทำงานเก่าร่วมด้วย มีแค่ไม่กี่ธนาคารเท่านั้นที่เข้มงวดโดยดูเฉพาะอายุงานของที่ทำงานปัจจุบันเท่านั้น
เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารแห่งหนึ่งได้ให้ข้อมูลในเรื่องอายุงานไว้สำหรับผู้ที่ยื่นกู้แล้วมีการเปลี่ยนงานไว้ว่า ธนาคารส่วนใหญ่จะอนุมัติให้หากว่าผ่านช่วงทดลองงานแล้ว แต่ก็มีบางธนาคารเช่นกันที่อนุมัติให้เลยแม้ว่าจะเพิ่งทำงานที่ใหม่ได้แค่ 1-2 เดือนเท่านั้น สิ่งที่ธนาคารจะพิจารณาเพิ่มเติมนอกเหนือจากอายุงานก็คือลักษณะของงานที่ทำระหว่างที่ทำงานเก่าและที่ทำงานใหม่ว่าเป็นงานที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ด้วย และเรื่องของรายได้ว่าที่ทำงานใหม่นั้นมีรายได้สูงขึ้นหรือไม่
ถ้าผู้กู้ที่มีการเปลี่ยนงานต้องการยื่นเอกสารเพื่อให้มีโอกาสผ่านการอนุมัติมากขึ้น ก็จะต้องเตรียมเอกสารที่เป็นสำเนาสลิปเงินเดือนทั้งของที่ทำงานเก่าและที่ทำงานใหม่ และสัญญาว่าจ้างการทดลองงานของที่ที่งานใหม่ด้วย หรือนำหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลังไปยื่นเพิ่มเติม ผู้กู้ที่ยื่นเอกสารตามนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติของอายุงานเลย
ถ้าผู้กู้มีอาชีพเฉพาะกลุ่มที่เป็นอาชีพพิเศษ เช่น ผู้พิพากษา อัยการ แพทย์ หรือเภสัชกร บางธนาคารอาจมีการอนุโลมให้ในเรื่องของอายุงานว่าไม่ต้องถึง 1 ปี ก็สามารถยื่นขอกู้ได้
ปัจจัยอื่น ๆ
เรื่องการอนุมัติสินเชื่อบ้านของเจ้าหน้าที่สินเชื่อนี้ต้องบอกว่าแม้จะมีหลักเกณฑ์ในการอนุมัติอยู่ แต่เหตุผลในการอนุมัติหรือไม่อนุมัตินั้นอาจเกิดจากเหตุผลได้หลากหลายประการ แม้ว่าจะมีอายุงานน้อยก็มีโอกาสกู้ผ่านหากว่าคุณสมบัติอื่น ๆ ที่สำคัญอย่างเช่น เรื่องรายได้ ภาระหนี้ ผู้กู้ร่วม หรือประวัติในเครดิตบูโรนั้นผ่านหมด ส่วนคนที่มีอายุงานมากก็มีโอกาสกู้ไม่ผ่านได้เช่นกัน หากว่าธนาคารดูจากรายได้และภาระหนี้แล้วยังสงสัยถึงความสามารถในการชำระหนี้ของเรา ดังนั้นเรื่องของอายุงานจึงเป็นเพียงแค่หลักเกณฑ์หนึ่งในอีกหลาย ๆ หลักเกณฑ์ที่ธนาคารจะพิจารณาเพื่อพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบ้านให้กับเราหรือไม่เท่านั้น
นอกจากนั้นนโยบายการปล่อยสินเชื่อของแต่ละธนาคารก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วยเช่นกัน เคยมีคนมาแชร์ประสบการณ์ไว้ว่า ยื่นใบสมัครกู้บ้านไปกับธนาคารทั้งหมด 4 แห่งด้วยเอกสารชุดเดียวกัน แต่ผลปรากฏว่ามี 2 ธนาคารที่อนุมัติ ส่วนอีก 2 ธนาคารไม่อนุมัติ ซึ่งก็เป็นการบอกว่านโยบายในการปล่อยกู้ของแต่ละธนาคารเข้มงวดมากน้อยต่างกันไป
ช่วงเวลาที่ทำเรื่องขอสินเชื่อก็เป็นปัจจัยสำคัญ หากว่าเราทำเรื่องกู้ซื้อบ้านในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดี สินเชื่อของธนาคารมีการเติบโตสูง หนี้เสียน้อย แบบนี้ธนาคารก็ไม่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อนัก ตรงข้ามกับหากว่าเราขอกู้บ้านในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา ตัวเลขหนี้เสียมาก ธนาคารเริ่มเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อทุกประเภท แม้แต่เรื่องอายุงานนี้ธนาคารก็จะเข้มงวดเป็นพิเศษเช่นกัน
ดังนั้นเรื่องอายุงานเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งเท่านั้นที่ธนาคารจะพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อบ้านให้กับเรา แต่ยังมีหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่สำคัญอีกหลายข้อที่ธนาคารจะเน้น เช่น ภาระหนี้ ประวัติในเครดิตบูโร รายได้ ฯลฯ ที่สำคัญต้องมีเงินเก็บหรือเงินก้อนจำนวนหนึ่ง เพราะวงเงินที่ได้รับอนุมัติอาจไม่ได้เต็ม 100% ก็ได้ เราจึงต้องมีเงินไว้สำหรับจ่ายส่วนต่างนี้ หรือถึงแม้ว่าเราจะกู้ได้เต็ม 100% ก็ตาม ก็ยังจะต้องมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องจ่าย เช่น ค่าจอง ค่ามัดจำ ค่าโอน ค่าจดจำนอง ค่าส่วนกลางล่วงหน้า ค่ามิเตอร์น้ำ ค่ามิเตอร์ไฟ ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารจะไม่มีปัญหาอื่น ๆ ให้ต้องกังวลอีกนั่นเอง