สิ่งที่นักลงทุนและผู้เสียภาษีมักตั้งคำถามนั้น คือ จะเอาหลักการใดมาพิจารณาในการลงทุนใน กองทุน LTF & RMF สาเหตุก็เพราะ นโยบายกองทุนที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นกองทุนประเภทเดียวกันก็ตาม ทำให้การบริหารแตกต่างกันไปด้วย
เราจึงนำข้อที่ผู้อยากประหยัดภาษีทั้งหลายมักจะเข้าใจผิด 5 ข้อมาเสนอ จะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกัน
-
ละเลยผลตอบแทนในระยะยาว
ส่วนมากนักลงทุนจะให้ความสนใจในการลงทุนในระยะสั้น ผลตอบแทนในระยะยาวเป็นเรื่องรอง ระยะเวลาที่พิจารณาผลประกอบการย้อนหลังคือช่วง 3 เดือน 6 เดือน หรืออย่างมากที่สุดคือย้อนไปราว 1 ปี ก่อนหน้า ซึ่งจริงๆแล้ว ควรพิจารณาให้นานกว่านี้ และน่าเสียดายมากสำหรับนักลงทุน ที่มัวแต่พิจารณาผลตอบแทนจนลืมนโยบายกองทุนที่แท้จริง ที่ต้องการให้คนออมเงินในระยะยาว จึงมีเงื่อนไขให้ผู้ลงทุนใน LTF ต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 5 ปีปฏิทิน และตัว RMF ยิ่งควรจะมองให้ไกลกว่านั้น เพราะผู้ลงทุนต้องถือหน่วยลงทุนจนมีอายุ 55 ปีเลยทีเดียวจึงจะขายได้
-
ซื้อกองทุนเพราะโปรโมชั่น
อาการเห็นโปรโมชั่นแล้วตาโต หรือชอบกระโจนเข้าใส่ของโปรโมชั่น ให้เลิกซะเถอะ นิสัยชอบของถูกนั้นใครๆก็เป็น แต่อย่านำมาใช้กับการลงทุนในกองทุน เพราะมันไม่ใช่การช้อบปิ้งแบบได้ของแถมถือได้ว่าคุ้ม อย่าใช้ของแถมมาเป็นตัวเลือกในการลงทุน สิ่งที่ควรพิจารณาอย่างแท้จริงคือ นโยบายการลงทุน และผลประกอบการย้อนหลัง
ควรศึกษานโยบายของแต่ละกองทุน อย่าหน้ามืดตาลายอยากได้แต่ของแถม จนลืมคำนึงไปว่า ของแถมที่ได้มาคุ้มค่ากับเงินลงทุนหรือไม่ จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลังว่าไม่น่าเลือกกองนี้เลย!
-
LTF & RMF เหมือนกันทั้งนั้นแหละ
LTF & RMF กองไหนๆก็เหมือนกันนั่นล่ะ! ถ้าคุณกำลังคิดแบบนี้ละก็ บอกเลยว่าคุณคิดผิดมากมากเลยทีเดียว ถึงแม้ LTF & RMF มันจะมีชื่อคล้ายคลึงกัน แต่ว่านโยบายการลงทุนแต่ละกองนั้นแตกต่างกัน
โดยที่ LTF นั้น เนื่องจากมีระยะเวลาการลงทุนสั้นกว่า จึงเน้นไปที่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่แน่นอนว่าความเสี่ยงย่อมสูงไปด้วย ในขณะที่ RMF เป็นการลงทุนในระยะกลาง-ยาว นโยบายกอลทุนจึงแตกต่างจากการลงทุนใน LTF คือ เน้นลงทุนใน หุ้นพื้นฐาน และตราสารหนี้ แต่เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว คือมีความผันผวนต่ำ และความเสี่ยงต่ำไปด้วย
การเลือกกองทุนผิดเนื่องจากไม่ศึกษานโยบายการลงทุนให้ดี อาจะทำให้ผลตอบแทนไม่เป็นไปดังคาด เพราะฉะนั้นก่อนตัดสินใจลงทุน ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตัดสินใจผิดพลาดในภายหลังนั่นเอง
-
เชื่อคนขายจนเกินไป
เชื่อตัวเองก่อนที่จะเชื่อผู้อื่น ถ้าหากคุณเลือกจะถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ดูแลกองทุน แทนการศึกษาข้อมูลด้วยตัวเอง เขาย่อมสนับสนุนให้คุณซื้อกองทุนที่ดูแลอยู่ โดยส่วนมากเจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ลงทุนในกองทุนยอดนิยม ทำให้การตัดสินใจลงทุนไม่ได้มาจากตัวเราเอง แต่มาจากการชักจูงของผู้ขาย หากคุณคิดจะลงทุนใน กองทุน LTF & RMF แล้ว ให้พิจารณาจากข้อมูลที่ศึกษาด้วยตัวเองเป็นหลัก ไม่มีใครที่จะรู้ความต้องการของเราดีเท่าตัวเราเองหรอก
-
คิดว่าไม่สามารถโอนย้ายการลงทุนได้
อย่าหลงผิด คิดว่าเมื่อลงทุนแล้วผลประกอบการไม่น่าพอใจ จะต้องจมปลักกับการลงทุนไปจนครบระยะเวลาถือครอง มีผู้ลงทุนจำนวนมากที่เข้าใจผิดว่า เมื่อได้ลงทุนใน กองทุน LTF & RMF แล้ว จะต้องถือครองจนครบกำหนดตามเงื่อนไขของสรรพกร แต่ความเป็นจริงแล้ว เราสามารถโอนย้าย LTF & RMF หน่วยลงทุนจากสถาบันการเงินหนึ่งไปยังอีกสถาบันการเงินหนึ่งได้ โดยมีค่าธรรมเนียมในการโอนย้ายที่สถาบันการเงินแห่งแรกจะเรียกเก็บ โดยแต่ละแห่งนั้นจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแตกต่างกัน ทั้งนี้การโอนย้าย LTF & RMF มีเงื่อนไขคือ จะต้องโอนย้ายหน่วยลงทุนไปยังกองทุนประเภทเดียวกัน และถือครองต่อจนครบกำหนดระยะเวลานั่นเอง
ขึ้นชื่อว่าการลงทุนนั้น มักจะมีความเสี่ยงตามมาเสมอ หากอยากให้การลงทุนประสบความสำเร็จ ควรศึกษาข้อมูลให้ดี ก่อนลงทุน และอย่าลืมว่าควรเชื่อตัวเองเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะลงทุนในกองทุนใดๆก็ตาม ควรเลือกนโยบายการลงทุนที่ตรงตามความต้องการของเราเป็นหลัก อย่าลืมว่าการลงทุนในกองทุน LTF และ RMF นั้น เป็นการส่งเสริมให้ออมเงินในระยะยาว อย่าเห็นแก่ของแถมเป็นหลัก นั่นไม่ใช่สาระสำคัญในการลงทุน