ถ้าเรามองดูระบบธุรกิจต่าง ๆ ที่รายล้อมรอบตัวของเรา ก็จะพบว่าโดยมากเป็นการทำธุรกิจแบบให้เครดิตกันไปก่อนแล้วค่อยไปตามเก็บเงินกันเอาเองทีหลังทั้งนั้นแหล่ะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายผ่านตัวแทนจำหน่าย หรือเป็นการซื้อตรงระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคเองก็ตามค่ะ ซึ่งอันที่จริงนั้น ถ้าผู้ประกอบต้องการจะให้เครดิตกับคู่ค้าธุรกิจรายไหนก็ควรต้องดูในเรื่องของการขายสินค้าคู่ไปกับการชำระเงินหรือการเรียกเก็บเงินจากลูกค้าอย่างละเอียดด้วยนะคะ
คำว่า อัตราหมุนของลูกหนี้ หรือในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Account Receivable Turnover ค่ะ ซึ่งเจ้าอัตรา เงินหมุน นี้ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยผู้ประกอบการวิเคราะห์ว่าลูกหนี้ในธุรกิจมีลักษณะการขายสินค้าและสามารถเก็บเงินจากการขายสินค้านั้น ๆ ได้อย่างไร และเป็นประจำสม่ำเสมอหรือเปล่า วิธีการคำนวณนั้นสามารถทำได้ด้วย 2 ขั้นตอนเท่านั้นเองค่ะ
ขั้นตอนที่ 1 ก็คือ ผู้ประกอบการควรจะรู้หรือมีข้อมูลยอดขายของคู่ค้าทางธุรกิจที่คุณจะให้เครดิตกับเขามาก่อนว่ามียอดขายอยู่เท่าไร จากนั้นค่อยหาดูว่าเขามีลูกหนี้การค้าอยู่กี่ราย จากนั้นก็นำข้อมูลทั้งสองมาหารกัน โดยใช้สูตรยอดขายหารด้วยจำนวนลูกหนี้การค้า ค่ะ อัตราส่วนที่ออกมาเป็นผลลัพธ์นั้นก็คือตัวบอกคุณว่าการจัดเก็บหนี้สินของลูกค้าคู่ธุรกิจของคุณเป็นอย่างไร หรือดูง่าย ๆ ก็คือถ้าค่าที่ออกมานั้นเป็นค่าที่มากก็แปลว่ากิจการของลูกค้าของคุณสร้างยอดขายได้พอ ๆ กับการจัดเก็บหนี้จากลูกค้าของเขาค่ะ ยิ่งเขามีศักยภาพในการเก็บเงินมากเท่าไรก็ยิ่งดียิ่งทำให้ผู้ประกอบการเชื่อมั่นในเครดิตของเขาได้มากขึ้นเท่านั้นค่ะ แต่ถ้าค่าที่ได้ออกมาน้อยหรือค่าที่ใกล้จะเฉียด ๆ เลขศูนย์หล่ะก็แปลว่าธุรกิจของลูกค้าของคุณกำลังมีปัญหาไม่สามารถตามเก็บเงินจากลูกค้าของเขาได้ สภาพกระแสเงินสดอาจจะติดขัดไม่คล่องมากนัก ดังนั้นคุณผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาการให้ระยะเวลาชำระเงินหรือเครดิตดี ๆ ค่ะ สมมุติว่า คุณผู้ประกอบการกำลังลังเลว่าจะให้เครดิตกับบริษัท ไก่ ดีหรือเปล่า ก็เลยไปหาข้อมูลมาและก็รู้ว่าบริษัท ไก่ นั้นมียอดขายสุทธิอยู่ที่ 600,000 บาท และมีลูกหนี้การค้าที่รอการเรียกเก็บอยู่ 100,000 บาท ถ้าคุณลองใช้สูตรหาอัตราเงินหมุนข้างต้นก็จะได้ค่าออกมาเท่ากับ 6 ซึ่งก็จัดว่าเป็นค่าที่สูงและห่างไกลจากเลข 0 อยู่มากค่ะ จึงจัดได้ว่าบริษัท ไก่ มีความสามารถสร้างยอดขายได้ไปพร้อม ๆ กับการเรียกเก็บเงินจากลูกค้าของเขาค่ะ ส่งผลให้สภาพการเงินของบริษัท ไก่ น่าจะมีความเสี่ยงเรื่องสภาพการเงินน้อยนั่นเองค่ะ
มาต่อกันที่ ขั้นตอนที่ 2 เป็นการหาค่าของระยะเวลาในการให้เครดิตการค้าโดยเฉลี่ยที่ผู้ประกอบการควรจะให้กับลูกค้าหรือคู่ค้ารายนี้ได้ค่ะ วิธีคำนวณก็ไม่ยุ่งยากอะไรค่ะ ให้ผู้ประกอบการนำจำนวนวันในหนึ่งปีซึ่งก็เท่ากับ 365 วันมาหารด้วยอัตราเงินหมุนที่ผู้ประกอบการหามาได้จากสูตรการคำนวณในขั้นตอนแรกค่ะ ผลลัพธ์ของค่าที่ได้ก็คือระยะเวลา หรือ เครดิตที่เป็นจำนวนวัน ที่ลูกค้าสมควรได้รับหรือผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ในการเรียกเก็บเงินจากลูกค้ารายนั้นนั่นเองค่ะ นอกจากผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้น ผู้ประกอบการเองก็ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับนโยบายเรื่องการให้เครดิตจำนวนวันกับลูกค้าแต่ละรายด้วยค่ะ เช่นถ้าเกิดว่าผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นตัวเลขที่มากกว่า 60 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาการชำระเงินที่สูงสุดของกิจการของคุณ ก็อาจจะเป็นนัยที่บอกว่าลูกค้ารายนี้อาจจะไม่เหมาะกับธุรกิจของคุณค่ะ หรือถ้าได้ค่าที่ออกมาน้อยกว่า 30 วัน อย่างนั้นก็เป็นการสื่ออีกเช่นกันว่าลูกค้ารายนี้เป็นลูกค้าชั้นดีได้ในอนาคต บริษัทจึงน่าจะร่วมทำธุรกิจการค้าด้วยค่ะ สมมุติจากรายละเอียดของบริษัท ไก่ ที่มีอัตราเงินหมุนอยู่ที่ 6 นั้น เมื่อนำมาเข้าสูตรหาเครดิตการชำระเงินก็จะได้ค่าออกมาที่ 61 วัน ซึ่งถ้านโยบายการเรียกเก็บเงินของผู้ประกอบการอยู่ที่ 90 วัน บริษัท ไก่ มีค่าผลลัพธ์ของจำนวนเครดิตอยู่ที่ 61 วันเท่านั้น นั่นก็หมายความว่า บริษัท ไก่มีความสามารถในการชำระหนี้คืนให้กับผู้ประกอบการเร็วกว่ากำหนดมากถึง 29 วัน ก็จัดได้ว่าบริษัท ไก่ อยู่ในกลุ่มของลูกค้าชั้นดี แต่ถ้าหากว่านโยบายการเรียกเก็บเงินของผู้ประกอบการอยู่ที่ 30 วัน ก็เห็นจะต้องหลีกเลี่ยงการให้เครดิตกับบริษัท ไก่ แล้วหล่ะค่ะเพราะมีความเป็นไปได้สูงมาก ๆ ที่บริษัท ไก่ จะไม่สามารถทำการชำระเงินได้ตรงตามกำหนดที่ผู้ประกอบการตั้งไว้ เพราะค่าเฉลี่ยของลูกค้ารายนี้จะจ่ายช้าออกไปมากถึง 31 วันเลยค่ะ ซึ่งนั่นก็เท่ากับ 1 เดือนเลยนะคะ รอไม่ไหวและเสี่ยงกับการเจอหนี้เสียหนี้สูญอีกด้วยค่ะ
ดังนั้นผู้ประกอบการหน้าเก่า และ หน้าใหม่ หากต้องการจะขยายกิจการหรือเพิ่มยอดขายมาก ๆ ก็ลองคิดเรื่องอัตราเงินหมุนนี้เข้าไปด้วยทุกครั้งก่อนให้เครดิตกับลูกค้าของคุณ ๆ นะคะ เพราะตัวเลขที่ได้ออกมานี้ก็จะเป็นตัวชี้วัดและนำไปสู่การวางแผนทางการเงินและการจัดการกับเครดิตสินเชื่อต่าง ๆ ของผู้ประกอบการธุรกิจด้วยค่ะ ถ้าคุณจะให้เครดิตใครก็ควรมั่นใจและแน่ใจก่อนว่าจะไม่กลายเป็นคมดาบย้อนกลับมาบาดมือคุณซะเองนะคะ